
นโยบาย “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปง่าย ๆ อย่างที่รัฐบาลตั้งใจไว้เสียแล้ว เพราะนโยบายนี้กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่าย หลายมุม ทั้งในแง่ของเม็ดเงินมหาศาลที่จะต้องใช้ ทั้งในแง่ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทั้งมุมมองเชิงวิชาการ ทั้งมุมมองด้านกฎหมาย ฯลฯ
ขณะที่รัฐบาลยืนยันรับฟังข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นต่าง ๆ รวมถึงมีท่าทีว่าพร้อมจะปรับในบางเรื่อง เพื่อให้เหมาะสมขึ้น เพียงแต่ทั้งหลายทั้งปวง ต้องไม่ทำให้วัตถุประสงค์หลักที่ตั้งไว้ต้องเสียไป คือ “การจุดชนวนกระตุ้นเศรษฐกิจ” ให้เกิดการหมุนเวียนกระจายตัวของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
อย่างไรก็ดี หลังจากมีข้อท้วงติงจากหลายฝ่าย ล่าสุดคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ที่มี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง เป็นประธานอนุกรรมการ ได้ประกาศเลื่อนการประชุมนัดสำคัญ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ออกไป จากเดิมที่กำหนดว่าจะ “สรุปรายละเอียดทั้งหมด” ในวันดังกล่าว แล้วนำไปเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาต่อไป
เลื่อนประชุมเคาะข้อสรุป
ทั้งนี้ “จุลพันธ์” ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ได้เลื่อนประชุมอนุกรรมการออกไปเป็นวันที่ 24 ต.ค. โดยเหตุผลที่ต้องเลื่อน เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่คณะทำงานยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เช่น เรื่องแหล่งเงิน เรื่องการกำหนดกรอบกลุ่มเป้าหมายที่มีข้อเสนอเรื่องคนรวย-คนจน เป็นต้น
โดยเฉพาะเรื่องกลุ่มเป้าหมายยังมีการมองแตกต่างกันพอสมควร รวมถึงข้อเสนอให้จ่ายเป็นเฟส ๆ ไม่ใช่แจกทีเดียว 5.48 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ในส่วนของรัฐบาลมองนโยบายนี้เป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ต้องมีเม็ดเงินที่มากเพียงพอ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เต็มศักยภาพของประเทศไทย
“ต้องดู คำว่ารวย คือรวยเท่าไหร่ บางส่วนงานบอกรายได้ 20,000 บาท ก็รวยแล้ว เราก็บอกว่าคนชั้นกลางเองก็ลำบากมานาน ไม่ใช่เฉพาะคนที่เปราะบาง เงินตัวนี้จะสามารถไปต่อยอดการประกอบอาชีพได้ ตรงนี้ก็เป็นความคิดเห็นที่ยังแตกต่าง และต้องหาข้อสรุปในอนุกรรมการ”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องแหล่งเงินที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีการเสนอเป็นทางเลือกมา ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมอีกที
ส่อเริ่มมาตรการไม่ทัน 1 ก.พ.
โดย “จุลพันธ์” กล่าวว่า คณะกรรมการชุดใหญ่จะยังไม่มีการประชุมจนกว่าอนุกรรมการจะได้ข้อสรุปแล้วเสนอไปให้พิจารณา ซึ่งกระแสข่าวที่ออกมาว่าจะมีเลื่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ตนไม่แน่ใจว่าข่าวมาจากไหน เพราะยังไม่เคยมีการนัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เลย
ทั้งนี้ ยอมรับว่ามาตรการที่จะออกมาอาจจะแตกต่างไปจากตอนหาเสียงไว้บ้าง เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม ก็ต้องหาจุดร่วมที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี ยังตั้งเป้าที่จะเริ่มการเติมเงิน 10,000 บาท ให้ได้ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 โดยจะพยายามทำตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่สุดท้ายแล้ว หากไม่ทันจริง ๆ จำเป็นต้องเลื่อน เพราะมีข้อจำกัดที่ต้องทำระบบต่าง ๆ ให้เกิดความมั่นใจ อาทิ ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็คงต้องเลื่อน
“หากจำเป็นก็ต้องเลื่อน และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีก็คงไม่ติดใจ หากเลื่อนด้วยเหตุผลที่จำเป็น เช่น แอปพลิเคชั่นต้องใช้เวลาพัฒนา หรือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความมั่นคงของระบบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้แลกกับเวลาไม่ได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่ได้หมายความว่าจะเลื่อน แต่ไตรมาสแรกจะพยายามทำให้ได้”

มั่นใจไม่ซ้ำรอยจำนำข้าว
สำหรับที่มีข้อกังวลว่าโครงการนี้จะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว “จุลพันธ์” กล่าวว่า ไม่ซ้ำรอยแน่นอน โดยตนเองมั่นใจว่านโยบายนี้ไม่มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในระดับนโยบาย ซึ่งตนไม่มีการทุจริตแน่นอน
โดยได้เน้นย้ำเรื่องปฏิบัติตามกฎหมาย และมีกลไกการตรวจสอบ ซึ่งการใช้ระบบบล็อกเชนก็จะทำให้การติดตามตรวจสอบเรื่องการทุจริต การโกงทำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีการโกงเกิดขึ้นก็จะมีกระบวนการดำเนินคดีด้วย
ชี้รัฐบาลยังไม่มีแผนกู้มาแจก
ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ได้มีการเชิญสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการออกพันธบัตร ในปีงบประมาณ 2567 โดยทาง สบน.ได้ระบุถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะของปีงบประมาณ 2567
ซึ่งหมายความว่า โครงการดังกล่าวหากเกิดขึ้นจะไม่ได้ถูกใช้จ่ายผ่านการกู้ยืมเงิน อย่างไรก็ดี ต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลอีกที ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายเดือน ต.ค.นี้
นอกจากนี้ ทาง สบน.เชื่อมั่นว่าฐานะการคลังของไทยยังคงดีอยู่ โดยหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 61.78% ต่อจีดีพี ต่ำกว่ากรอบพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ 70% ดังนั้น จึงมองว่าหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ แม้จะเร่งตัวขึ้นมาราว 20% นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด รวมถึงยังมองว่ามีพื้นที่ทางการคลังเหลือ หากรัฐบาลต้องการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกู้ยืมเงินเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะหาข้อสรุปให้กับนโยบาย “สายล่อฟ้า” นี้อย่างไร ทั้งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งเป็น “โจทย์” ที่ยากจริง ๆ