
“เศรษฐา” นายกฯ กระทุ้ง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยเหลือ 2.25% ยกตัวเลขชี้ชัด ไม่มีเงินเฟ้อ มีแต่เงินฝืด แย้มประชุมดิจิทัลวอลเลตชุดใหญ่กลางสัปดาห์หน้า
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงโอกาสการนัดคุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เคยมีความคิดว่าจะหารือทุกสัปดาห์ ว่า ขออนุญาตเรียนว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนโยบายการเงินการคลังเราคุยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
เรื่องตัวเลขเหล่านี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้อธิบายแล้ว เรื่องตรรกะเงินเฟ้อที่มาได้อย่างไร เรื่องที่เรามีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลดค่าใช้จ่ายมาอย่างไร ตนขออนุญาตเรียนว่าจริง ๆ แล้วเรื่องเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราอย่าลืมว่าจริง ๆ แล้วเงินเฟ้อที่มันติดลบส่วนหนึ่งเกิดจากที่เรามีมาตรการรัฐออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพื่อลดรายจ่าย
ไม่มีภาวะเงินเฟ้อ
นั่นแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อไม่มี ถ้าจะมีเกิดจากรากปัญหาคือต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น แต่เมื่อเราไปคุมตรงนั้นได้เงินเฟ้อก็ไม่มี ส่วนมาตรการที่จะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ลดต้องดูที่เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการคือเกิดจากการใช้จ่าย แสดงว่าดีมานด์มันไม่มี เงินเฟ้อไม่มี ถ้าตรงนี้ไม่เกิดแสดงว่าปลอดภัยหรือเปล่าที่จะเลิกลดดอกเบี้ยได้แล้วเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ถ้าเกิดลดดอกเบี้ยมาแล้วเกิดมีปัญหาเรื่องของดีมานด์ซึ่งมันเยอะอยู่แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้ แต่อย่างนี้ตนคิดว่าดูจากตัวเลขทั้งสองฝ่ายแล้ว Cost-push หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาแพงที่เกิดขึ้นมาในอดีต จริง ๆ แล้วตรงนี้ตนเชื่อว่าพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยมีอีกเยอะมาก
ฉะนั้นเรื่องการพูดคุยเราได้มีการพูดคุยกันชัดเจนอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องความเห็นต่างหรือเรื่องทิฐิผมไม่ทราบ แต่มันชัดเจนอยู่แล้วที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 4 เดือนแล้ว เรื่องมาตรการที่เราพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมันต่าง ๆ รวมถึงการพักชำระหนี้ต่าง ๆ มันเป็นการบรรเทารายจ่ายของพี่น้องประชาชนอย่างที่นายภูมิธรรม เรียนไปในเรื่องที่เราไม่สามารถใช้งบประมาณได้ จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมนี้
จี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
ตอนนี้รัฐบาลขับเคลื่อนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้โดยนโยบายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายวีซ่าฟรี การกระตุ้นการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติที่จะมาลงทุน เป็นการใช้นโยบายอย่างเดียว ฉะนั้นเราต้องการให้มีการลงทุนเกิดขึ้นเพื่อเกิดการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ พวกเราทุกคนยืนอยู่ตรงนี้รู้อยู่แล้วดอกเบี้ยเป็นภาระค่าใช้จ่ายขนาดไหน หากลดดอกเบี้ยไป เรื่องการจะเกิดเงินเฟ้อผมว่าความเสี่ยงเกือบไม่มีเลย ตรงนี้ชัดเจนอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาแต่ละครั้งมองเป็นการกระตุกแขนกระตุกขารัฐบาลที่จะออกนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลตหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนคิดว่าตรงนี้สื่อมวลชนคงต้องไปพิจารณาเองก็แล้วกัน แต่ตนเชื่อว่าเราน่าจะทำงานด้วยกันต่อไปได้ อย่างที่นายภูมิธรรมพูดไปคำแรกเลยว่า นโยบายการเงินการคลังต้องไปพร้อมกัน ต้องไปด้วยกัน ต้องควบคู่กันไป
และวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วเรื่องประเด็นกรอบเงินเฟ้อที่ตอนนี้ยังติดลบอยู่ ยังไม่อยู่ในจุดขั้นต่ำของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ ฉะนั้น 2.5% ลดลงไปเหลือ 2.25% ก็ยังมีพื้นที่อีกเยอะ ถ้าเกิดมีวิกฤตหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงไปได้อีกเยอะมาก วันนี้ทำไมเราถึงไม่เริ่มทำกัน
เมื่อถามว่าจะทำยังไงให้ความเห็นที่ต่างระหว่างรัฐบาล และ ธปท.ลงตัวกันได้ นายเศรษฐา กล่าวว่า นี่ก็มีการพูดคุย เจอครั้งล่าสุดผู้ว่าฯ ธปท. ก็ได้ระบุว่ามีอะไรก็ได้มีการสื่อสารผ่าน สศค. อยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรามีการคุยกันอยู่ตลอดอยู่แล้ว การสื่อสารเป็นการพูดจากันอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้มีการก้าวร้าว ตรงนี้เป็นบทพิสูจน์อยู่แล้ว ตัวเลขก็เห็นด้วยกันและไม่มีใครมาถกเถียงว่าตัวเลขที่มันติดลบมาเป็นตัวเลขที่ไม่จริงไม่ตรงกัน
ย้ำตอนนี้วิกฤตเงินฝืด
ตัวเลขมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ยอมรับมาว่าจริงๆแล้วเงินเฟ้อมันไม่ใช่ปัญหาเลย ตอนนี้ปัญหาคือว่ามันเป็น Deflation หรือเงินฝืดแล้ว ฉะนั้นตนเชื่อว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยมันถึงเวลาแล้ว ก็ฝากไว้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องมีการประชุมกัน (กนง.ประชุมวันที่ 7 ก.พ. 2567)
เมื่อถามว่าได้วันประชุมชุดใหญ่นโยบายดิจิทัลวอลเลตหรือยัง นายกฯกล่าวว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง จะเช็กวันแจ้งมา คิดว่าน่าจะเป็นกลางสัปดาห์หน้า เมื่อถามว่า เรื่องเงินดิจิทัลวอลเลตจะเดินหน้าไปโดยไม่รอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกฯกล่าวว่า เดินหน้าคู่ขนานกันไป และหวังว่าเดี๋ยวคงมีคำแนะนำมาจาก ป.ป.ช.มาในเร็ววันนี้
แบงก์ชาติต้องช่วยแก้ปัญหา
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวาน (5 ก.พ.) กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ตนอยากทำความเข้าใจว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นมาตรการในการควบคุมดูแลไม่ให้ร้านค้า หรือผู้ประกอบการไม่ให้เอากำไรมากเกินไป เพื่อให้หาจุดสมดุลร่วมกันได้ ซึ่งเหตุที่ทำประชาชนประสบวิกฤตภาวะเดือดร้อนมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ร่วมกัน
โดยมีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะเราทำงานเราดูแลประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน เราทำงานในการเสริมให้ราคาสินค้าถูกควบคุมดูแล และสนับสนุนให้ผู้ผลิตต่างๆมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเรามีการจัดการสินค้าเกษตรหลายรายการ โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ เราจะมีการแถลงชี้แจงให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่มีการขึ้นราคา จะเห็นว่าเราจะใช้มาตรการเพื่อให้มีความสมดุลในหลายฝ่าย เพื่อดูแลทั้งผู้ประกอบการ และเอกชน
นายภูมิธรรมกล่าวว่า การที่บอกว่าการดำเนินการมาตรการของรัฐทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ตนว่าต้องมาทบทวนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยการดำเนินการของรัฐในการเข้าไปดูแล ถ้าเกิดปัญหาจากเราจะเกิดไม่นาน และไม่ต่อเนื่อง แต่การเกิดปัญหาต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่ามันมีปัญหาที่ดำรงอยู่
ปัญหาอยู่ที่มาตรการทางการเงิน
ตนคิดว่าในทางปฏิบัติรัฐบาลใช้มาตรการการคลังเกือบทุกเรื่อง และทุกกระทรวงได้ดำเนินการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันคือปัญหามาตรการทางการเงิน หากจะให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นอย่างดี ในประเทศอื่นมาตรการการเงินการคลังต้องควบคู่กัน จึงต้องถามว่าผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลมาตรการทางการเงิน ได้ดำเนินการอะไรบ้าง มีการลดดอกเบี้ยหรือไม่
“ผมว่าตอนนี้ภาระหน้าที่อยู่ที่แบงก์ชาติ และผู้ที่รับผิดชอบดูแลมาตรการทางการเงิน ซึ่งมันจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ มันต้องทำทั้งสองเรื่องควบคู่กันถึงจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ถ้าดูเรื่องเดียว ดูไม่หมด จะต้องดูทั้งสองเรื่อง เป็นสองขาประกอบกัน มันถึงจะแก้ปัญหาได้ กระทรวงพาณิช์ เพียงสะท้อนตัวเลข แต่การวิเคราะห์ตัวเลขต้องมาพูดคุยกัน” นายภูมิธรรมกล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อาจจะเป็นขั้นตอนต่อไป ถ้า ธปท.รู้สึกว่ามันมีประเด็นที่เราควรหารือกัน เรายินดีคุยได้อยู่แล้ว แต่ความคิดเห็นของเราในตอนนี้ กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ปฏิบัติการ เรารู้ว่าถ้าไม่มีมาตรการการเงินช่วย ทุกเรื่อง เช่น ราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการลำบาก หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ธปท.ควรตระหนักในเรื่องนี้
ย้ำไม่ใช่วิกฤตธรรมดา
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ขณะนี้วิกฤตการณ์ไม่ใช่วิธีการทั่วไปธรรมดา แต่มีวิกฤตการณ์การเงินเข้ามาแทรก เพราะเรื่องมาตรการการเงิน เราเห็นหน่อที่จะเกิด และเห็นแนวที่จะมีปัญหา ฉะนั้นตรงนี้ ธปท.ต้องดูให้ละเอียด อย่าดูหรือเพ่งเล็ง เอาใจใส่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องดูทั้งระบบถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ วันนี้จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศได้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งจะทำ
ธปท.ก็ไม่เห็นวิกฤตต้มยำกุ้ง
แต่อีกฝ่ายจะยืนค้านอยู่ ตนว่ามันไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น และถ้ามันเป็นปัญหาอย่างที่เรากังวล และคาดหวังไว้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันคือความล้มเหลวในวิกฤตที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูก็จะเหมือนปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 วิกฤตการณ์ตอนนั้น ธปท.ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งที่ถ้าท่านดูรายละเอียดท่านก็จะเห็น ซึ่งอันนี้ก็เหมือนกัน มีนักเศรษฐศาสตร์มองว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยับทำอะไรที่แข็งแรง และมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤตต่าง ๆ จะเกิดขึ้น
ซึ่งวันนี้รัฐบาลมองว่า หนึ่งคือดิจิทัลวอลเลต เป็นประเด็นสำคัญที่จะกระตุ้นกำลังซื้อทั้งหมดให้เกิดขึ้น และอีกหลายมาตรการของเรา ที่รออยู่ แต่หากมาตรการหลักไม่ขยับมันทำให้อีกหลายเรื่องเราทำไม่ได้ วันนี้รัฐบาลมาบริหารประเทศเกือบ 5 เดือนแล้ว อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีเงินดำเนินการ ไม่มีเงินลงทุน เพราะงบประมาณปี’67 จะสามารถใช้ได้ในเดือนพฤษภาคม แต่สิ่งที่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ
คือเราทำงานเต็มที่ อยากวิงวอนขอร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ดูทั้งระบบ อย่าให้เป็นเรื่องติดใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะการมองแยกส่วน ไม่มองทั้งระบบมันก่อให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี’40 มาแล้ว วันนี้อยากฝากสิ่งที่สำคัญ ต้องไปถามผู้ดูแลการเงินของประเทศ ว่าคิดอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นด้วยหรือมีปัญหามั้ย ถ้าคิดว่าไม่มีปัญหา เราก็ต้องดูอนาคตว่าใครประเมินได้ถูกทาง เพราะถ้าหากเกิดวิกฤตการเงินอย่างที่รัฐบาลบอก ผู้บริหารการเงินทั้งหลายที่ไม่อะเลิร์ท และไม่สามารถเข้ามาดูแล และยังไม่จัดการจะต้องรับผิดชอบ