“กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ปรับธุรกิจ ฝ่าพายุหนี้ครัวเรือน-เกณฑ์กำกับเข้ม

Krungsri

ธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2567 ถือว่ามีความท้าทายค่อนข้างมาก ทั้งปัจจัยกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ที่มีผลต่อกำลังซื้อและการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะเดียวกันยังเจอความท้าทายจากเกณฑ์การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่มีผลไปแล้วตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

ปรับธุรกิจตามมาตรการ ธปท.

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะตัวแทนบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะ K Shaped โดยเฉพาะ K ขาล่างอาจได้รับผลกระทบ แต่กลุ่ม K ขาบน ถือว่ายังไปได้ดี ซึ่งมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแน่นอน

อย่างไรก็ดี เรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบบริษัทได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทเชื่อว่าสามารถปรับกระบวนการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ ธปท.ได้ ประกอบกับการตั้งเป้าหมายธุรกิจไม่ได้เร่งการเติบโตมากนัก โดยบริษัทจะดูทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่มีผลต่อธุรกิจด้วย

“เราตั้งเป้าธุรกิจ เราจะดูทั้ง Head Wind และ Tailwind ดังนั้น เราแค่ปรับกระบวนการให้สอดคล้อง”

กาง 4 เสาหลักเดินเกมธุรกิจ

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ในปี 2567 นั้น นายอธิศเล่าว่า กลยุทธ์ปีนี้จะอยู่บน 4 เสาหลัก คือ 1.เร่งความเติบโตบนธุรกิจหลัก 2.ขยายระบบนิเวศพันธมิตร ซึ่งภายใต้เครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์

จะเห็นว่าแบรนด์ 3 ใน 4 เป็นบัตร Partnership และหากดูบัตรร่วม (Cobrand) ในไทยที่มีอยู่ 200-300 เจ้า กรุงศรี คอนซูมเมอร์มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) กว่า 50% ใหญ่ที่สุดในไทย จึงมองว่ากลยุทธ์พันธมิตรมีความสำคัญ และในปีนี้จะมีการทำอะไรเพิ่มเติมมากขึ้น เช่น ดีลเลอร์ที่ร่วมทำผ่อนชำระหลายหมื่นเจ้า หรือร้านค้าร่วมโปรโมชั่นที่มีราว 2 หมื่นร้านค้า

ADVERTISMENT

3.ส่งเสริมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จะมีการพิจารณาว่ารูปแบบการชำระ (Payment) เป็นรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ เช่น กลุ่มอายุน้อยจะไม่ได้ชื่นชอบบัตรพลาสติก หรือไม่ใช้จ่ายบนบัตร และเป็นการจ่ายผ่านโมบายแบงกิ้ง บริษัทจึงมีผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม อาทิ ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) หรือการจ่ายแบบ Tap & Go รวมถึงการคิดค้นอุปกรณ์ในชำระแบบอื่น และ 4.ความร่วมมือภายในเครือ (X-Group Synergies) จะมีการยกระดับกลยุทธ์ที่ทำให้เครือแข็งแรงยิ่งขึ้น เช่น One Retail ที่จะผลักดันต่อเนื่อง

“หากดูทั้ง 4 เสาหลัก เราจะทำให้แกนต่าง ๆ สามารถต่อจิ๊กซอว์ให้เข้ากัน รวมถึงทำความร่วมมือระดับ Cross Country อาทิ ญี่ปุ่น หรือธุรกิจนอกประเทศใน AEC และ MUFG Group”

ADVERTISMENT

ตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่แตะแสนล้าน

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 393,000 ล้านบาท เติบโต 8% จำนวนบัตรเครดิตใหม่ 365,000 ใบ เติบโต 8% ยอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท เติบโต 9% และยอดสินเชื่อคงค้าง 151,000 ล้านบาท ขยายตัว 2%

โดยภาพรวมในช่วง 2 เดือนแรก ทิศทางยังเป็นไปตามเป้าหมาย มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 62,000 ล้านบาท เติบโต 10% ยอดสินเชื่อใหม่ 15,000 ล้านบาท เติบโต 8% ยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท เติบโต 3% อย่างไรก็ดี แม้ว่าจำนวนบัตรใหม่อยู่ที่ 62,000 ใบ อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 นี้

ขณะที่ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทิศทางอาจเห็นการขยับเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นรุนแรงเนื่องจากบริษัทมีทีมบริหารความเสี่ยงและติดตามหนี้ (Collection) ค่อนข้างทำให้อัตราการเร่งของหนี้เอ็นพีแอลไม่สูงเมื่อเทียบกับระบบ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบอยู่ที่กว่า 5% (สิ้นปี 2566) แต่ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์อยู่ที่ราว 2.5% ส่วนบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.14% ถือว่าคุณภาพค่อนข้างดี

“ในช่วง 2 เดือนแรกถือว่า Inline กับเป้าหมายกลุ่มลูกค้าบัตรใหม่ที่ต้องการ Young Gen เพราะจะทำให้พอร์ตเราสุขภาพดีในระยะยาว”

สำหรับผลประกอบการในปี 2566 เติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 365,000 ล้านบาท เติบโต 10% ยอดสินเชื่อใหม่ 92,000 ล้านบาท เติบโต 6% เทียบกับปีก่อน

เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรีฯ

นายสมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมลูกค้าผู้ถือบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่มีการใช้จ่ายต่างประเทศในปี 2566 อยู่ที่ 183,000 คน เติบโต 132% และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 5,500 ล้านบาท เติบโต 97%

อย่างไรก็ดี หากดูประเทศที่ลูกค้าเดินทางเป็นอันดับ 1 คือ ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนถึง 37% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) พบว่าคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นถึง 9.55 แสนคน เติบโต 402%

ทั้งนี้ หากดูในปี 2566 บัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มียอดใช้จ่ายในญี่ปุ่นสูงถึง 2,200 ล้านบาท เติบโต 250% หรือราว 106,000 คน เติบโต 180% ดังนั้น จากทิศทางดังกล่าว บริษัทจึงมุ่งเน้นขยายตลาดในประเทศญี่ปุ่นต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ “เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรีฯ”

“ตอนนี้เราพันธมิตรกว่า 400 ราย และปีนี้เราจะขยายต่อเนื่องเป็นกว่า 600 ราย จากกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทตั้งเป้าลูกค้าเดินทางไปญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.5 แสนคน หรือเติบโต 40% และมียอดใช้จ่าย 2,950 ล้านบาท เติบโต 50% ภายในปีนี้”