เร่งเครื่องงบประมาณปี’68 ตั้งงบฯกลางใหม่ลุย “ดิจิทัลวอลเลต”

digital money

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ทั้งรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ของหน่วยรับงบประมาณ และแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมถึงรับทราบผลการพิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปด้วย

เคาะงบฯ ปี’68 กว่า 3.75 ล้านล้าน

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า วงเงินงบประมาณที่ ครม.ปรับปรุงใหม่อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 272,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.84% มีโครงสร้างงบประมาณ ประกอบด้วย 1) รายจ่ายประจำ 2,704,574.8074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 164,106.3074 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.46% และคิดเป็นสัดส่วน 72.07% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วน 73% ของปีงบประมาณ 2567

2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ 2567 ตั้งไว้ 118,361.1305 ล้านบาท)

3) รายจ่ายลงทุน 908,223.8536 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 198,143.2536 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.90% คิดเป็นสัดส่วน 24.20% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วน 20.40% ในปีงบประมาณ 2567

4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 31,780 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.86% คิดเป็นสัดส่วน 4% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วน 3.40% ในปีงบประมาณ 2567 (รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10,198.6610 ล้านบาท)

ตั้งงบฯกลาง “แจกเงินดิจิทัล”

สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่กำหนดไว้ว่าจะใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาทนั้น นายเฉลิมพลกล่าวว่าจะตั้งไว้อยู่ในรายการงบฯกลาง เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นงบฯกลาง “รายการใหม่” ที่ตั้งขึ้นมา

ADVERTISMENT

โดยในงบประมาณปี 2568 นั้น มีการตั้งงบฯกลางไว้ 12 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 805,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.47% จากปีงบประมาณก่อนหน้า

ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะวางไว้ว่าจะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตจำนวน 175,000 ล้านบาทนั้น คงต้องรอให้กฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ก่อน แล้วค่อยมาดูเรื่องการบริหารจัดการอีกที เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนการบริหารงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุชัดเจนไปก่อนได้

ADVERTISMENT

รองรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ

ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวว่า มีการตั้งงบประมาณไว้รองรับการปรับขึ้นเงินเดือนแล้ว ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท

จัดสรรงบฯภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์

เมื่อจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ วงเงินรายจ่าย 3,752,700 ล้านบาทนั้น จะจัดสรรตามยุทธศาสตร์หลัก 6 ด้าน (ดูตาราง)

งบประมาณ

ขณะที่การจัดสรรงบฯตามแผนงานบูรณาการวงเงินรวม 206,858.4991 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 1.ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5,781.8509 ล้านบาท 2.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 7,615.0228 ล้านบาท 3.ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 954.6264 ล้านบาท 4.เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 887.7915 ล้านบาท 5.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 62,779.2495 ล้านบาท 6.ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด 5,087.6449 ล้านบาท 7.พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 103,317.2252 ล้านบาท 8.พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 8,737.6559

ล้านบาท 9.รัฐบาลดิจิทัล 3,545.3858 ล้านบาท และ 10.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 8,152.0462 ล้านบาท

ผูกพันข้ามปีลงทุนเกิน “พันล้าน”

ด้านการพิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปนั้น สำนักงบฯได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาข้อเสนอของ 8 กระทรวง 18 หน่วยรับงบประมาณ จำนวน 69 โครงการ/รายการ งบประมาณ 33,763.7128 ล้านบาท วงเงินรวมทั้งสิ้น 181,682.2211 ล้านบาท

โดยพิจารณาตามความจำเป็น เหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นควรเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เป็นจำนวน 19,114.7163 ล้านบาท วงเงินทั้งสิ้น 118,218.9062 ล้านบาท

“รายการผูกพันข้ามปีที่เกิน 1,000 ล้านบาท ก็จะเป็นโครงการลงทุนด้านเส้นทางถนน การลงทุนด้านน้ำเป็นหลัก”

ชงเข้าสภาต้นเดือน มิ.ย. 67

ผู้อำนวยการสำนักงบฯ กล่าวว่า ส่วนราชการต้องพิจารณาแล้วส่งกลับมาที่สำนักงบฯ ภายในวันที่ 20 เม.ย. โดยสำนักงบฯ จะสรุปแล้วเสนอ ครม.อีกทีวันที่ 23 เม.ย. ต้องทำเร็ว เพราะก่อนนี้กระบวนการเข้า ครม.ช้ามา 2 สัปดาห์ หลังจากนี้ก็ต้องเร่ง

ซึ่งหลังเข้า ครม.วันที่ 23 เม.ย.แล้ว สำนักงบฯ ก็ต้องมาเปิดรับฟังความเห็นอีกที ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเข้าสภาผู้แทนราษฎรได้ต้นเดือน มิ.ย. 2567