เปิดรายงานการเงินภาครัฐ ปี’66 รายได้วูบ 2.4 แสนล้าน เกิดจากอะไร ?

เงินบาท

ครม. รับทราบคลังรายงานการเงินรวมภาครัฐ ปีงบประมาณ 2566 เทียบปี 2565 เผยกว่า 8 พันหน่วยงาน มีสินทรัพย์เพิ่ม 1.43 ล้านล้าน หนี้สินเพิ่ม 6.3 แสนล้าน ขณะที่รายได้รวมลดลง 2.57% ชี้มาจาก 3 รายการสำคัญ

วันที่ 23 เมษายน 2567 รายงานจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ครม. ได้มีมติรับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2566 และ 2565 ตามที่กระทรวงการคลังรายงาน โดยได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2566 ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจัดทำรายงาน ปี 2566 รวมทั้งสิ้นจำนวน 8,436 หน่วยงาน จากจำนวนทั้งหมด 8,440 หน่วยงาน คิดเป็น 99.95% โดยมีหน่วยงานที่ไม่จัดส่งรายงานการเงิน จำนวน 4 หน่วยงาน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ภาครัฐมีสินทรัพย์รวม 44.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.43 ล้านล้านบาท จากปี 2565 โดยสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 3.31% รายการที่สำคัญ คือ

1) เงินลงทุนระยะยาวในหลักทรัพย์เผื่อขายซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และกองทุนประกันสังคม
2) ที่ดินราชพัสดุเพิ่มขึ้นจากการปรับใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบบัญชี ปี 2566-2569 และได้มีการปรับปรุงวิธีการประเมินที่ดินราชพัสดุให้มีความละเอียด ถูกต้อง ตรงตามการประกาศใช้บัญชีการประเมินราคาที่ดิน
และ 3) สินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้นจากธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์

ขณะที่หนี้สินรวมในปี 2566 อยู่ที่ 35.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งหนี้สินรวมเพิ่มขึ้น 1.79% จากรายการที่สำคัญ คือ (1) เงินกู้ยืมระยะยาวจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ และ (2) หนี้สินของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้นจากธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์

ส่งผลให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 ภาครัฐมีสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ 8.76 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.05% อย่างไรก็ดี รายได้รวมอยู่ที่ 9.06 ล้านล้านบาท ลดลง 2.4 แสนล้านบาท หรือลดลง 2.57% รายการที่สำคัญ คือ

ADVERTISMENT

1) รายได้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดลงจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศหรือเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินสกุลบาท ณ วันสิ้นปีงบประมาณ
2) รายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลงจากส่วนต่างราคาซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์และผลกำไรจากการสต๊อกน้ำมันที่ปรับลดลงของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
3) รายได้จากการขายยาและเวชภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมลดลงจากการคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

อย่างไรก็ดี รายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร และการจัดเก็บอากรขาเข้าของกรมศุลกากร ประกอบกับการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี

ADVERTISMENT

ด้านค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 8.71 ล้านล้านบาท ลดลง 3.5 แสนล้านบาท หรือ ลดลง 3.82% รายการที่สำคัญ คือ (1) ค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนอื่นและบริจาคลดลงจากค่าใช้จ่ายช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐ และ (2) ต้นทุนขายสินค้าและบริการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และองค์การเภสัชกรรมลดลง

ทั้งนี้ รายได้ยังสูงกว่ารายจ่ายสุทธิที่ 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1 แสนล้านบาทโดยผลการวิเคราะห์รายได้รวมของปีงบประมาณ 2566 ที่ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 คิดเป็น 2.57% เกิดจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศหรือเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินสกุลบาท ณ วันสิ้นปีงบประมาณของ ธปท. จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของหน่วยงานของรัฐโดยรวม ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้บริหารจัดการสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะที่ราชพัสดุสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเงินลงทุน เป็นทรัพย์สินที่รัฐบาลมีไว้เพื่อนำผลกำไรที่เกิดขึ้นส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับการบริหารหนี้สาธารณะมีการวางแผนชำระหนี้ให้เหมาะสมกับการบริหารสภาพคล่องหรือฐานะการคลังของแผ่นดินและไม่เป็นภาระการคลังในระยะยาว และเพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะมีความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม

สำหรับการบริหารรายได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐโดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ทำให้สามารถจัดเก็บและนำส่งรายได้เป็นไปตามเป้าหมายและการบริหารรายจ่ายมีการกำกับดูแลการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางการคลัง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐควรพิจารณาดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้

1) ยกระดับและนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานภาครัฐเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน อันนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศภายใต้หลักการบริหารภาครัฐแนวใหม่ โดยพัฒนาการให้บริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

2) พัฒนาและทบทวนการบูรณาการกระบวนการทำงานของภาครัฐควบคู่กับการพัฒนาการบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของภาครัฐให้มีการกำกับดูแลที่เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานและเชื่อมโยงการให้บริการแบบบูรณาการ

3) พัฒนาและทบทวนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และเกิดความคล่องตัว ตลอดจนรองรับการดำเนินงานบนพื้นฐานของระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ