
แบงก์เร่งตัดขายหนี้เสีย 1.6 แสนล้าน บริษัทบริหารสินทรัพย์ “BAM-KCC” ประสานเสียงแบงก์ตัดขายลูกหนี้ธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “โรงเหล็ก” ที่ปิดตัวจากผลกระทบเหล็กจีนดัมพ์ราคาแบกต้นทุนไม่ไหว รวมทั้ง “โรงแรม-โรงสี-ธุรกิจรับเหมา” หางเลขงบฯล่าช้า-หนี้สูง-ดอกเบี้ยแพง-กู้ใหม่ไม่ได้ “JMT-CHAYO” เผยแบงก์โละหนี้รายย่อยยกแผง “บ้าน-รถยนต์” ทะลักตามภาวะเศรษฐกิจชะลอ ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ ธนาคารเร่งจัดการหนี้เสียเชิงรุก “ตัดหนี้สูญ-ตัดขาย-ปรับโครงสร้าง” หนี้เน่าคงค้างทะลุ 5 แสนล้านบาท
เร่งตัดขายหนี้เน่า 1.6 แสน ล.
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการตัดขายหนี้ของสถาบันการเงินในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ราว 140,000-160,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมทั้งหนี้รายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และหนี้รายใหญ่ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจะเห็นว่าแแบงก์มีการตัดขายหนี้ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ (คอร์ปอเรต) เพิ่มขึ้นชัดเจน จากเดิมที่มีการตัดขายหนี้กลุ่มนี้น้อยมาก ๆ
โดยหนี้ธุรกิจรายใหญ่ที่พบมากได้แก่ โรงงานเหล็ก ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ซื้อวัตถุดิบมาแปรรูปในโรงงานไทย ซึ่งมีต้นทุนทางด้านพลังงานและต้นทุนอื่น ๆ ค่อนข้างสูง และมาเจอมาตรการ Zero Tax ของจีน ที่ไม่มีกำแพงภาษี ขณะที่จีนมีศักยภาพการผลิตที่ล้น สามารถกดราคาลงต่ำกว่าต้นทุนเพื่อแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งได้ เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ต้องปิดโรงงานในที่สุด
“โรงเหล็ก-โรงแรม” พรึ่บ
นายบัณฑิตกล่าวว่า นอกจากกลุ่มโรงเหล็ก ยังมีกลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก ที่แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว แต่บางโรงแรมที่มีหนี้สูง ภาระดอกเบี้ยสูง ไม่สามารถกู้เงินใหม่มาปรับปรุงได้ ทำให้โรงแรมไม่สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ กลุ่มนี้จะเห็นการตัดขายออกมา เพื่อเปลี่ยนมือ เปลี่ยนเจ้าของใหม่ อย่างไรก็ดี ราคาซื้ออาจจะปรับลดลง หรือมีราคาส่วนลด (Discount Rate) เนื่องจากผู้ซื้อมีต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยสูง ทำให้ราคาซื้ออาจจะไม่สูงมาก
“ตั้งแต่ต้นปี แบงก์มีการตัดขายหนี้ออกมาแล้ว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยหนี้คอร์ปอเรตส่วนใหญ่มาเป็นพอร์ต เช่น มูลหนี้ 1,000 ล้านบาท แต่จะขายเป็นรายชิ้น ทั้งโรงเหล็ก โรงแรม โรงสี ส่วนหนี้พวกรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล น่าจะสูงมากเหมือนกัน เพราะยิ่งเข้าช่วงเปิดเทอม ผิดนัดชำระหนี้จะยิ่งสูง อย่างไรก็ดี แบงก์ก็น่าจะรู้ว่าหนี้ที่ออกมาขายเยอะก็น่าจะขายไม่ได้ทั้งหมด เพราะคนซื้อมีกำลังจำกัด”
5 เดือนแบงก์โละหนี้เน่า 6 หมื่น ล.
นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล หรือ KCC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทได้รับเชิญจากสถาบันการเงินเข้าร่วมประมูลหนี้แล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยมีทั้งกลุ่มหนี้บ้าน ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวโน้มหนี้เสียที่เห็นสัญญาณเพิ่มขึ้นจะเป็นสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ เนื่องจากไทยเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 และมาเจอปัญหางบประมาณล่าช้า ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหายไป แม้ว่าภาคท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่การส่งออกยังคงติดลบ ส่งผลให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อน้อยลง สะท้อนจากยอดปฏิเสธสินเชื่อปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
“เอสเอ็มอี-รับเหมา”
นายทวีกล่าวว่า อย่างไรก็ดี หนี้ที่มีการประมูลส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บ้านและหนี้ธุรกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าธนาคารมีการตัดขายหนี้เอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานเหล็ก รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากงบประมาณล่าช้าด้วย
โดยบริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนเพื่อรับซื้อหนี้มาบริหารปี 2567 อยู่ที่ราว 900 ล้านบาท โดยมีการยื่นประมูลไปแล้ว 500 ล้านบาท ซึ่งจะรู้ผลการประมูลภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
“วิธีการบริหารหลังรับซื้อหนี้มา หลัก ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ ปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า และการดำเนินคดีฟ้องร้องยึดหลักประกัน ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลานาน 3-5 ปี โดยช่วงสิ้นเดือน พ.ค.นี้รอลุ้นผลที่เรายื่นไป 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ธุรกิจหลากหลาย”
รถยนต์-บ้าน หนี้ไหลไม่หยุด
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 น่าจะเห็นสถาบันการเงินตัดขายหนี้ออกมามากขึ้นกว่าช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ทำให้กระบวนการการตัดขายหนี้ชะลอออกไปราว 1 ไตรมาส
ทั้งนี้ หนี้ที่สถาบันการเงินนำมาตัดขาย ส่วนใหญ่จะมีทั้งหนี้เก่าและหนี้เกิดใหม่ ซึ่งจะมาแบบยกแผง ทั้งหนี้บ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือน และหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีสัญญาณเพิ่มขึ้นในกลุ่มดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่
ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทรัพย์ที่สถาบันการเงินนำออกมาประมูลมีทั้งหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต และสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งเห็นสัญญาณการตัดขายหนี้ประเภทสินเชื่อบ้านและรถยนต์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงกลุ่มหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก
“ปีนี้ยังเป็นโอกาสของผู้ซื้อ เพราะจะเห็นแบงก์ทยอยตัดขายหนี้ออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 และ 4 ที่จะมีออกมามากขึ้น โดยปีนี้เราตั้งงบฯลงทุนซื้อหนี้มาบริหารราว 1,000-1,500 ล้านบาท คาดว่าจะได้มูลหนี้กลับมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนจะเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 75% และไม่มีหลักประกัน 25%
NPL แบงก์ทะลุ 5 แสนล้าน
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเอ็นพีแอลช่วงที่เหลือของปี 2567 ยังคงมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่คาดว่าทยอยฟื้นตัว รวมถึงระหว่างทางธนาคารพาณิชย์มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้เสียตามหลักเกณฑ์ของแบงก์ชาติ
จากแนวโน้มเอ็นพีแอลที่ยังมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น จะเห็นธนาคารพาณิชย์ยังให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการเอ็นพีแอลเชิงรุกมากขึ้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ (Write-off) หรือการตัดขายหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เป็นต้น
ศูนย์วิจัยคาดว่าหนี้เอ็นพีแอลจะขยับเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 2.65-2.85% ต่อสินเชื่อรวมทั้งระบบ หรือคิดเป็นยอดเอ็นพีแอลคงค้าง 5.02-5.22 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 2.66% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4.93 แสนล้านบาท
“เรายังเห็นหนี้เสียขยับเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทำให้กลุ่มที่รายได้ไม่กลับมามีปัญหาในการชำระหนี้”