“หนี้เสีย”ปล่อยกู้ออนไลน์พุ่ง ทุบยอดอนุมัติสินเชื่อต่ำ 15%

loan

ธปท.-แบงก์จับตา “หนี้เสีย” สินเชื่อออนไลน์-ดิจิทัลพีโลน ขยับขึ้นไม่หยุด ตามภาวะหนี้ครัวเรือนสูง “กรุงไทย” เผยความท้าทาย คุณภาพหนี้ “LH Bank-กสิกรไลน์” ชี้ สัญญาณผู้ประกอบการเพิ่มดีกรีความระมัดระวัง ประเมินเครดิตผู้กู้เข้มขึ้นกดดันยอดอนุมัติต่ำแค่ 15-25% “CIMBT” เผย NPL สินเชื่อออนไลน์สูงกว่าสินเชื่อปกติ 2-4 เท่า ขณะที่หนี้เสียดิจิทัลพีโลนพุ่งแตะ 9%

เอ็นพีแอลพุ่งแตะ 9%

นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ในไตรมาสที่ 4/2566 ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 7,200 ล้านบาท ยอดอนุมัติสินเชื่อต่อรายอยู่ที่ 2,389 บาท ลดลงจากไตรมาสที่ 4/2565 เดิมอยู่ที่ 3,000 บาทต่อราย ขณะที่จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9 ล้านราย จากเดิมอยู่ที่ 2.4 ล้านราย

ทั้งนี้ สาเหตุของยอดวงเงินปล่อยสินเชื่อต่อรายลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการกระจายของจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง อย่างไรก็ดี โดยปกติหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อบุคคลดิจิทัลจะค่อนข้างสูง ซึ่ง ณ ไตรมาสที่ 4/2566 จะอยู่ที่ 9% เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6.8%

“แม้ทิศทางหนี้เสียของดิจิทัลพีโลนจะเพิ่มขึ้น แต่วงเงินและเม็ดเงินในการปล่อยค่อนข้างเล็ก จึงไม่ได้ทำให้เอ็นพีแอลของทั้งระบบขยับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่บางผู้ประกอบการอาจจะเห็นการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ และเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือปรับ Credit Underwriting เพิ่มขึ้น เพราะก่อนหน้าอาจจะผ่อนปรนไปมาก เลยทำให้กลายเป็นสินเชื่อคุณภาพด้อยลง จึงสะท้อนผ่านยอดสินเชื่อคงค้างในไตรมาสที่ 3/66 อยู่ที่ 7,600 ล้านบาท และมาไตรมาสที่ 4/66 ลดลงมาอยู่ที่ 7,200 ล้านบาท”

โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับอนุญาต “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” มีทั้งสิ้น 9 ราย แต่มี 6 รายปล่อยสินเชื่อแล้ว และอีก 3 รายอยู่ระหว่างการปรับโมเดลธุรกิจ นอกจากนี้มีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจเข้ามาทำธุรกิจเพิ่มเติมอีก 3 ราย ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ เช่น เรื่องโมเดลธุรกิจ, ระบบ IT และ Data ที่ผู้ประกอบการใช้ในการทำธุรกิจ รวมถึงเรื่องการให้บริการอย่างเป็นธรรมและมีธรรมาภิบาลด้วย

ทั้งนี้ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” เป็นสินเชื่อเพื่อคนตัวเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินด้วยข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) โดยมีเงื่อนไขปล่อยกู้รายละไม่เกิน 2 หมื่นบาท ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ 6 ราย ที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว ประกอบด้วย บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด, บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย, บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์

ADVERTISMENT

โจทย์ใหญ่คุณภาพหนี้

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ (Digital Lending) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย ยังคงเติบโตอยู่และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ความท้าทายของกลุ่มสินเชื่อออนไลน์ คือ ธนาคารจะต้องบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ซึ่งในมุมของธนาคารกรุงไทยยังอยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ แต่เป็นสิ่งที่ธนาคารเห็นว่าต้องให้ความระมัดระวังในสถานการณ์และจังหวะนี้

“Digital Lending เราเห็นความท้าทายในมิติของคุณภาพหนี้ ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงไทยยังคง In Control อยู่” นายผยงกล่าว

ADVERTISMENT

นายเคลวิน ฟู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ยังมีแนวโน้มการเติบโต เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการสินเชื่อ อย่างไรก็ดี จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ขณะที่หนี้เสียมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว

อนุมัติสินเชื่อต่ำแค่ 15-25%

ซีอีโอ LH Bank ระบุว่า จากการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการ ส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อ (Approve Rate) ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะสินเชื่อไม่มีหลักประกันเฉลี่ยอยู่ที่ 15-25% ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าและรายได้ ซึ่งในส่วนของ LH Bank อัตราการอนุมัติสินเชื่อก็สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมเช่นกัน

โดยเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ Digital Lending ปีนี้จะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 600 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ 3 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป รวมถึงการพิจารณาข้อมูลเครดิต (NCB Scoring) ในการประเมินการปล่อยสินเชื่อร่วมด้วย

กรณีลูกค้าที่มีประวัติชำระหนี้ที่ดี มีวินัย จะเสนออัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยเพดานที่ระดับ 25% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าเกือบ 3 แสนราย คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะจบอยู่ที่ราว 3 แสนราย

“Digital Lending เรายังขยายการเติบโตอยู่ แต่จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้ยอดการอนุมัติสินเชื่อได้ช้าและต่ำกว่าปีก่อน เพราะผู้ประกอบการต้องให้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะ ซึ่งแบงก์เองก็ระมัดระวังมากขึ้น แต่เนื่องจากพอร์ตเล็ก และยังสามารถปล่อยกู้รายใหม่ได้อยู่ ทำให้มีน้ำใหม่มาเติม จึงทำให้ตัวเลขหนี้เสียยังอยู่ที่ตัวเลขหลักเดียว แต่เราก็ไม่ควรปล่อยในกลุ่มเปราะบาง เช่น รายได้เดือนละ 1 หมื่นบาท มีภาระหนี้ 5,000 บาท อันนี้ก็ไม่ควรปล่อย อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงหาโอกาสในการเติบโตสินเชื่อ Digital Lending ทั้งในการหาลูกค้าใหม่ผ่านการจับมือพันธมิตร หรือการเสนออัตราดอกเบี้ยจูงใจ”

“กสิกร ไลน์” ตั้งการ์ดสูง

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางการปล่อยสินเชื่อออนไลน์อาจจะไม่ได้ขยายตัวมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน คนรายได้ยังไม่กลับมา ทำให้เอ็นพีแอลในตลาดขยับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ผู้ประกอบการในระบบลดความเสี่ยง และเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

สำหรับ LINE BK ยอมรับว่าได้ให้ความระมัดระวังตั้งแต่ปี 2565 หลังจากเห็นสัญญาณคุณภาพสินเชื่อด้อยลงจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทกลับมาเน้นคุณภาพสินเชื่อ และประเมินความเสี่ยงในแต่ละกลุ่มลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้การเติบโตไม่ได้หวือหวา โดยต้องรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจและบริหารคุณภาพสินเชื่อ แต่ยังคงตั้งเป้าเติบโตอยู่
“ภาพรวมทุกคนต้องระมัดระวังมากขึ้น เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งเราก็เคร่งครัดและดูตามกลุ่มลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น”

NPL ออนไลน์สูงกว่า 2-4 เท่า

ด้านนายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์และธนาคารดิจิทัล และรักษาการผู้บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้สินเชื่อออนไลน์น่าจะไม่ขยายตัวหรือหดตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง 90-91% ของจีดีพี และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปกติหนี้เสียสินเชื่อออนไลน์จะสูงกว่าสินเชื่อปกติ 2-4 เท่า ซึ่งปัจจุบันกลุ่มธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยอยู่ที่ 3-6% แต่หากเป็นกลุ่มน็อนแบงก์จะสูงถึง 15-20% ซึ่งจากทิศทางหนี้เสียดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์จะเน้นทำตลาดลูกค้าเก่าที่รู้จักประวัติการชำระหนี้

“ภาพรวมยังเห็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มที่ปล่อยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่ ทำให้ยังคงเห็นการแข่งขันโดยเฉพาะในกลุ่มน็อนแบงก์ แต่ก็ให้ความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเจ็บตัวค่อนข้างเยอะเช่นกัน ส่วนแบงก์ก็เล่นในตลาดลูกค้าเดิม”

สำหรับช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ยอมรับว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อออนไลน์ได้ช้ากว่า คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 ล้านบาทต่อเดือน จากเป้าหมายที่ 70 ล้านบาทต่อเดือน โดยเป้าหมายทั้งปี 2567 อยู่ที่ 700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของสินเชื่อบุคคลทั้งหมดที่ 7,200 ล้านบาท โดยซีไอเอ็มบี ไทย เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบนที่มีรายได้ตั้งแต่ 3-7 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ส่วนเอ็นพีแอลคาดว่าปีนี้ขยับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 2.5% จากสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 2.1%