ธปท.ไฟเขียว “JVAMC” แบงก์รัฐ หวังกดหนี้เสีย เผยมีสนใจแล้ว 1 ราย   

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ธปท.เผยหลักเกณฑ์ “JVAMC” แบงก์รัฐ หวังช่วยลดหนี้เสียในอนาคต หลังตัวเลขลูกหนี้ด้อยคุณภาพจากโควิด-19 หรือรหัส 21 เพิ่มใน SFIs ถึง 70% หวังเกณฑ์ช่วยบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ระบุหลังเปิดเกณฑ์มีผู้ประกอบการสนใจ 1 ราย 

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์ส่งเสริมการร่วมลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หรือเรียกว่า JVAMC นั้น

โดยในปี 2565 ธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์ในลักษณะเดียวกันระหว่างการร่วมทุนของธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบ JVAMC ซึ่งยังไม่รวมถึง SFIs แต่เนื่องจากในปี 2565-2566 ธปท.พบว่า ลูกหนี้ด้อยคุณภาพของ SFIs มีมากขึ้น หากดูจำนวนบัญชีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (รหัส 21) จะเห็นว่าอยู่กับ SFIs ในสัดส่วน 70% และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) 20% และธนาคารพาณิชย์ 10%

ดังนั้น ธปท.จึงออกมาตรการ JVAMC ชั่วคราวมาเพื่อบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพในกลุ่ม SFIs โดยการรับซื้อ-โอนหนี้ในกลุ่มรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยกำหนดให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในการปรับโครงสร้างหนี้และการเข้าถึงสินเชื่อในระยะต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้ SFIs และ AMC สามารถยื่นขอจดทะเบียนการร่วมทุนได้ภายใน 31 ธันวาคม 2567 และบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะต้องเคลียร์หนี้ด้อยคุณภาพให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 ปี

และภายหลังจากออกเกณฑ์ดังกล่าว พบว่า มีผู้ประกอบการ SFIs และ AMC จำนวน 1 แห่งให้ความสนใจในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน JVAMC โดยก่อนหน้านี้จะมีธนาคารพาณิชย์จำนวน 1 แห่ง และ AMC อีก 1 แห่งได้จัดตั้งบริษัทไปแล้ว 1 ราย และได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ เบื้องต้นทุนจดทะเบียนจะอยู่ที่ 25 ล้านบาท และโครงสร้างถือหุ้นจะต้องมีอำนาจในการควบคุมร่วมกัน อาจจะถือในสัดส่วน 49 : 49 หรือ 50 : 50

“การบริหารหนี้เสียมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบริหารเองโดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการตัดขายให้ AMC ในระบบที่มี 100 แห่ง แต่ที่ Active อาจจะไม่เยอะ ซึ่งมาตรการ JVAMC เป็นมาตรการชั่วคราว และเป็นอีกเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยและสร้างความยืดหยุ่นในระบบ ขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่าภาครัฐก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการช่วยเหลือและการแก้หนี้ เช่น ไตรมาสที่ 4/66 ช่วยแก้หนี้เกษตรกร หรือลูกหนี้รายย่อย รวมถึงเอสเอ็มอี ซึ่งหากรวมกันคาดว่าแนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลในระบบของ SFIs น่าจะปรับลดลงได้ในอนาคต”