
กนง.เผยเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน หลังการส่งออกพลิกเป็นบวก-การลงทุนภาครัฐขยับ ลั่นโอกาสจีดีพีขยายตัวได้ 3% หากรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ-ดิจิทัลวอลเลต ย้ำ ดอกเบี้ย 2.50% สอดคล้องและเหมาะสม ชี้ ชั่งน้ำหนักหลายมิติ
วันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี โดยคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2567 อยู่ที่ 2.6% และปี 2568 อยู่ที่ 3.0%
จุดยืนนโยบายการเงินไม่เป็นอุปสรรคการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสะดุด และดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป ส่วนบรรทัดฐานดอกเบี้ยสูงหรือไม่สูงเกินไปนั้น จะเห็นว่า ดอกเบี้ยในสหรัฐ อังกฤษ ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 4-5% เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านเรา 4-5%
ซึ่งกรรมการสอบทานดอกเบี้ยสอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหรือเปล่า ซึ่งภาพจีดีพี 2.6% เงินเฟ้อเข้ากรอบ สินเชื่อโน้มลดลง แต่ไม่ลงเหว เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นแต่ไม่กระโดด โดยเราชั่งน้ำหนักดอกเบี้ยกับภาพที่คาดไว้ และให้น้ำหนักหลายมิติ และอย่าทำให้เสถียรภาพระยะปานกลางสั่นคลอน เพราะนักลงทุนมองในระยะข้างหน้า ไม่ใช่วันนี้”
ทั้งนี้ กนง.ประเมินภาพเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนดีขึ้น โดยตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 1 ที่ออกมาขยายตัว 1.5% หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และไตรมาสต่อไตรมาส (QOQ) ถือเป็นอัตราเร่งที่ค่อนข้างดีและสูงกว่าศักยภาพ โดยภาพเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของไตรมาสที่ 2/2567 โดยคาดว่าน่าจะขยายตัวเกินระดับ 2% และไตรมาสที่ 3 ขยายตัวระดับ 3% และไตรมาสที่ 4 จะออกมาใกล้เคียง 4% ส่งผลให้ภาพรวมจีดีพีปี 2567 ขยายตัว 2.6% และปี 68 ขยายตัวได้ 3%
อย่างไรก็ดี หากดูไส้ในองค์ประกอบจีดีพี จะพบว่า 1.ภาคการส่งออกจากติดลบและเริ่มบวกมากขึ้นอยู่ที่ 1.8% และ 2.การบริโภคภาคเอกชน 4.2% แม้จะมีบทบาทน้อยลง เพราะเร่งตัวไปก่อนหน้า เพราะจะเห็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาขยายตัวผิดปกติ โดยในปีนี้และปีหน้าจะขยายตัวเข้าสู่ระดับปกติ
และ 3.การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 3.6% หลังจากได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากงบประมาณที่ล่าช้า ซึ่งหากดูตัวเลขงบลงทุนที่มีการเบิกใช้อยู่ในสัดส่วนราว 39-40% หากเทียบกับปี 2563 ที่งบประมาณล่าช้าเช่นกันสัดส่วนการเบิกจ่ายจะอยู่ที่ราว 66% โดยหากดูแนวโน้มคาดว่าการเบิกใช้งบฯลงทุนหลังจากนี้จะใกล้เคียงหรือสูงกว่าในปี 2563
อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐทั้งหมด มีบางส่วนที่โครงการชัดเจน และยังไม่ชัดเจน ซึ่งหากโครงการที่มีความชัดเจน กนง.ได้มีการรวมไว้ในประมาณการเบื้องต้น (Based Line) แล้ว เช่น งบฯลงทุน การบริโภคภาครัฐ เป็นต้น ส่วนโครงการที่ยังไม่ชัดเจน จะเป็น (Upside Risk) โดยมองโครงการดิจิทัลวอลเลต จะมาในช่วงไตรมาสที่ 4/2567 และต้นปี 2568 ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนโยบายการเงินยังสามารถรองรับได้
“ภาพรวมเศรษฐกิจมีปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำ (Downside Risk) น้อยกว่าที่ประเมินไว้ในต้นปี ซึ่งโอกาสที่จีดีพีจะขยายตัวในระดับ 3% ก็มีความเป็นไปได้ตามที่รัฐบาลมองไว้ หากมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และโครงการดิจิทัลวอลเลต”