เปิด 5 รายชื่อ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย อายุกิจการเกิน 100 ปี
วันที่ 3 สิงหาคม 2567 รู้หรือไม่ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จนถึงเดือน มิ.ย. 2567 พบว่า 2 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นธุรกิจครอบครัว หรือคิดเป็น 67% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นในตลาด SET และ mai เป็นบริษัทธุรกิจครอบครัวถึง 575 บริษัท จาก 852 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET ที่ 72% และใน mai อีก 28%
โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) สัดส่วน 50.2% ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกว่า 8 ล้านล้านบาท จากมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวม 16 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานทั้งหมด 1.3 ล้านอัตรา คิดเป็น 74% ของการจ้างงานทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย และเฉลี่ย 6 ปี อยู่ที่ 67% ซึ่งนับว่าสูงมาก
และมีมูลค่าสินทรัพย์รวม รายได้รวม และกำไรสุทธิ ของบริษัทธุรกิจครอบครัวไทยในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา (2560-2566) มีการเจริญเติบโตทั้งสินทรัพย์รวม รายได้รวม และกำไรสุทธิ โดยสินทรัพย์รวมเติบโตเฉลี่ย 47.03% ปิดสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 25,285 พันล้านบาท รายได้รวมเติบโตเฉลี่ย 45.7% ปิดสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 8,309 พันล้านบาท และกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 52.4% สิ้นปี 2566 ปิดอยู่ที่ 409,029 ล้านบาท
โดยบริษัทธุรกิจครอบครัวนับตั้งแต่ปีก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ที่มีอายุเกิน 100 ปี ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีด้วยกัน 5 บริษัท โดยบริษัทที่มีอายุกิจการยาวนานที่สุดคือ 148 ปี
วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จัก 5 บริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.บริษัท โอเอชทีแอล จำกัด มหาชน (OHTL) หรือโรงแรมโอเรียนเต็ล โดยดำเนินธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ก่อตั้งเมื่อปี 2419 ปัจจุบันมีอายุกิจการ 148 ปี เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2531 และปัจจุบันมีมูลค่ากิจการ 5,571 ล้านบาท โดยมีรายได้เมื่อปี 2566 จำนวน 2,520 ล้านบาท
ทั้งนี้โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโรงแรมในตำนานระดับ 5 ดาวสุดหรู โดยกลุ่มตระกูลกรรณสูต และตระกูลเทอดประวัติ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
2.บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ – ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ก่อตั้งเมื่อปี 2425 ปัจจุบันมีอายุกิจการ 142 ปี เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2518 และปัจจุบันมีมูลค่ากิจการ 83,762 ล้านบาท โดยมีรายได้เมื่อปี 2566 จำนวน 168,029 ล้านบาท
โดยจุดเริ่มต้นของ BJC มาจากหุ้นส่วนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งระหว่างตระกูลเบอร์ลี่ และ ตระกูลยุคเกอร์ ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อันเป็นหนึ่งในบริษัททางการค้ายุคแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม ในระยะแรกของการดำเนินธุรกิจนั้น บีเจซีได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงสีข้าว เหมืองแร่ ไม้สัก การเดินเรือ การนำเข้า และกิจกรรมทางธุรกิจอื่น ๆ
ซึ่งเป็นการวางรากฐานก่อนที่ประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม จากการที่บริษัทได้เลือกสรรและดูแลหุ้นส่วนของบริษัททั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างดี ส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจนำเข้าและส่งออกรายหนึ่งของประเทศไทย และได้ขยายธุรกิจไปสู่ด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
3.บมจ.โอสถสภา (OSP) กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนบุคคล สินค้าเพื่อสุขภาพและลูกอม เช่น M-150, โอเล่ ฯลฯ ของตระกูลโอสถานุเคราะห์ ก่อตั้งเมื่อปี 2434 ปัจจุบันมีอายุกิจการ 133 ปี เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 และปัจจุบันมีมูลค่ากิจการ 71,489 ล้านบาท โดยมีรายได้เมื่อปี 2566 จำนวน 26,644 ล้านบาท
4.บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในเครือ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ก่อตั้งเมื่อปี 2449 ปัจจุบันมีอายุกิจการ 118 ปี โดยช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์คอมปะนี SCBX ในวันที่ 15 ก.ย. 2564 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 และปัจจุบันมีมูลค่ากิจการ 345,128 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิเมื่อปี 2566 จำนวน 43,521 ล้านบาท
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ Siam Commercial Bank of Thailand เป็นธนาคารไทยแห่งแรก ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2449 มีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการเงินในประเทศไทยผ่านวัฎจักรเศรษฐกิจมากมาย ก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง
เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินครบวงจรชั้นนำของประเทศ นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายนอกเหนือจากบริการเงินรับฝากและธุรกรรมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ในส่วนของลูกค้าบุคคล ธนาคารให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บริการบัตรเครดิต บัตรเดบิต บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริการโอนเงินทั้งใน ประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนและการประกัน
สำหรับลูกค้าธุรกิจ ธนาคารให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเงินเพื่อธุรกิจ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อการค้าต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ บริหารเงิน ผลิตภัณฑ์ทางตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน บริการที่ปรึกษาทางการเงิน วาณิชธนกิจ รวมถึงบริการทางการเงินอื่น ๆ
พร้อมด้วยเครือข่ายการให้บริการที่กว้างขวางและครอบคลุม สอดรับกับการเติบโตของโลกที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากนี้ธนาคารมีบริษัทในเครือที่สำคัญ ซึ่งให้บริการทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้า ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์
ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (The Most Admired Bank)” ธนาคารได้มียุทธศาสตร์หลักภายใต้โครงการ Transformation ที่ถูกออกแบบมาเพื่อปรับรากฐานต่างๆ ที่สำคัญ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของธุรกิจการเงินที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน
ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยงานที่กำกับดูแล ธนาคารเชื่อมั่นว่า ด้วยก้าวที่กล้าแห่งยุทธศาสตร์ตีลังกา จะสามารถพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจและศักยภาพในทุกด้านของธนาคาร ทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล กระบวนการทำงาน ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความแตกต่าง พร้อมทั้งสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าและสังคมอย่างยั่งยืน
5.บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ก่อตั้งเมื่อปี 2456 ปัจจุบันมีอายุกิจการ 111 ปี และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2518 และปัจจุบันมีมูลค่ากิจการ 246,000 ล้านบาท โดยมีรายได้เมื่อปี 2566 จำนวน 528,531 ล้านบาท
โดยเอสซีจี เป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจมามุ่งมั่น พัฒนา และปรับการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักบรรษัทภิบาลที่ดี เอสซีจี ก่อตั้งในประเทศไทย เมื่อปี 2456 ตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและทดแทนการนำเข้า ต่อมาได้ขยายกิจการและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับในวงกว้างและเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคอาเซียน และในระดับโลก
ทั้งนี้สำหรับบริษัทธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 575 บริษัท มีอายุเฉลี่ยของบริษัทคือ 36 ปี