
บทความโดย "วิวัฒน์ นวกานนท์" ที่ปรึกษาการเงิน AFPT สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
วันที่ 3 กันยายน 2567 การเลือกประกันสุขภาพเป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญมาก การเลือกที่ดีและเหมาะสมจะช่วยปกป้องเราและครอบครัวจากความเสี่ยงทางการเงินได้ ในปัจจุบันมีประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่ให้วงเงินค่ารักษาสูงหลักล้านบาท จนถึงหลัก 100 ล้านบาท หากมีประกันเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลวงเงินสูงขนาดนี้แล้ว ประกันค่าชดเชยโรคร้ายแรง ยังมีความจำเป็นต้องทำเพิ่มอยู่หรือไม่
ประกันสุขภาพค่ารักษาในโรงพยาบาล | ประกันค่าชดเชยโรคร้ายแรง |
ครอบคลุมเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เกิดขึ้นจริงขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล |
ได้รับเป็นเงินก้อนตามเงื่อนไขเมื่อตรวจเจอโรคร้ายตามที่ระบุในสัญญา |
ครอบคลุมทั้งการเจ็บป่วยทั่วไปและโรคร้ายแรง | ครอบคลุมเฉพาะโรคร้ายที่อันตรายและมีความเสี่ยงสูงต่อชีวิต เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ หรือหลอดเลือดสมอง |
การจ่ายเบี้ยจะต้องจ่ายทุกปีไปจนกว่าจะครบสัญญา หากหยุดจ่ายก็จะหมดความคุ้มครอง | การจ่ายเบี้ยมีหลากหลาย ทั้งแบบจ่ายทุกปีจนครบสัญญา หรือจ่ายระยะเวลาสั้น 10 หรือ 20 ปี แล้วคุ้มครองตลอดชีพ |
หากมีงบประมาณที่จำกัด ก็ควรจะให้ความสำคัญกับการทำประกันสุขภาพในส่วนค่ารักษาในโรงพยาบาลก่อน ส่วนการเพิ่มค่าชดเชยโรคร้ายแรงเข้าไปในแผนประกันสุขภาพ อาจพิจารณาเพิ่มเติมตามความเหมาะสมและความต้องการทางด้านการเงินของแต่ละบุคคลในลำดับถัดไป หากมีกำลังในการชำระเบี้ย ก็ควรจะมีทั้งสองแบบ โดยข้อดีของค่าชดเชยโรคร้ายแรงมีดังนี้
มีเงินเพียงพอสำหรับค่ารักษาต่อเนื่อง
ประกันสุขภาพจะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลตามการจ่ายค่ารักษาจริง แต่การรักษาโรคร้ายแรงไม่ได้จบแค่ค่ารักษาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาส่วนอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่น ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การแพทย์ช่วงพักฟื้น ค่าตรวจติดตามกรณีรักษาต่อเนื่อง ค่าบำบัดฟื้นฟู ค่าคนดูแล ถ้ามีค่าชดเชยที่เพียงพอก็จะทำให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีเงินก้อนช่วยจัดการค่าใช้จ่ายช่วงขาดรายได้
หากตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรงก็จะได้เงินก้อนมาไว้กับตัวเอง โดยบริษัทประกันจะจ่ายให้เราโดยตรง เพราะถ้าเกิดเป็นโรคที่ทำให้ความสามารถในการทำงานน้อยลงหรือไม่สามารถสร้างรายได้ได้ในช่วงรักษาตัวแล้ว ก็จะมีเงินก้อนมาช่วยในการบริหารค่าใช้จ่ายได้เอง ทั้งพวกค่าใช้จ่ายในครัวเรือนต่าง ๆ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น และยังช่วยได้มากในเรื่องของการจัดการกระแสเงินสดในช่วงที่ต้องรักษาตัวอีกด้วย
การช่วยบรรเทาความกังวล
โรคร้ายแรงสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความกังวล ความเครียดให้กับครอบครัวได้ หากมีค่าชดเชยประกันโรคร้ายแรงที่เพียงพอ ก็จะช่วยบรรเทาความกังวลในส่วนค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง
ทำประกันค่าชดเชยโรคร้ายแรง ควรมีความคุ้มครองวงเงินเท่าไร
การวางแผนเลือกวงเงินความคุ้มครองให้มีความเหมาะสมนั้น สำคัญมากต่อการวางแผนอนาคตที่มั่นคงทางการเงินให้กับเราและครอบครัว โดยจำนวนวงเงินความคุ้มครองที่แนะนำในปัจจุบัน ควรมีให้มากพอในระดับ 2-3 ล้านบาทขึ้นไป
- จะได้จัดการค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมาได้อย่างสบายใจ นอกจากการรักษาตัวเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายแรงในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมาเมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้าน รวมถึงค่าใช้จ่ายในช่วงที่ขาดรายได้ ควรมีสำรองไว้ประมาณปีละ 600,000-1,000,000 บาท
- โรคร้ายแรงมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง ควรมีเงินสำรองเผื่อไว้ให้พร้อม ไม่ว่าจะเจ็บป่วยกี่ครั้งก็ตาม หากทำเป็นประกันค่าชดเชยโรคร้ายแรงแบบเจอ-จ่าย-จบควรพิจารณาทำประกันดังกล่าวด้วยจำนวนเอาประกันภัยที่มากพอที่จะครอบคลุมการกลับมาเป็นซ้ำ หรืออาจพิจารณาประกันค่าชดเชยโรคร้ายแรง ที่คุ้มครองการจ่ายค่าชดเชยให้อีกหากมีการกลับมาเป็นซ้ำ
- ไม่สร้างภาระให้คนข้างหลัง สิ่งที่มักกังวลมากที่สุด คือ ความเป็นอยู่ของคนข้างหลัง โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นเสาหลักของบ้าน แค่เจ็บป่วยเล็ก ๆ ก็กระทบความเป็นอยู่ของคนในบ้านได้แล้ว ยิ่งเกิดเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านย่อมตามมา หากมีค่าชดเชยมากพอ ก็จะมาช่วยอุดรอยรั่วของปัญหาเหล่านี้ให้เรา และครอบครัวสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้
การทำประกันโรคร้ายแรงควรทำไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ในขณะที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเป็นแผนสำรองที่อาจเป็นประโยชน์มหาศาลในอนาคต ช่วยให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
การรักษาโรคร้ายแรงบางโรค เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่หากในระหว่างทางการรักษานั้น มีทั้งกำลังใจจากคนรอบข้าง หมดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ไม่ต้องเป็นภาระแก่คนในครอบครัว ก็จะทำให้มีพลังใจมากขึ้นในการรักษาตัวอย่างแน่นอน