
ปลัดคลังพร้อมเดินหน้านโยบายรัฐบาลใช้ระบบ Negative Income Tax จ่ายสวัสดิการคนไทย เล็งให้เป็นแพ็กเกจแต่ละคนได้ไม่เท่ากัน-ขึ้นกับระดับรายได้ เล็งใช้เป็นระบบ “Workfare” ไม่ใช่ “Welfare” เพื่อจูงใจคนทำงาน-ไม่รอรับสวัสดิการอย่างเดียว คาดใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ปี ชี้เมื่อนำ NIT มาใช้ก็ต้องเลิก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายรัฐบาลที่มีแนวคิดศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax (NIT) นั้น เรื่องนี้จะได้เห็นแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีการศึกษาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันการรวมฐานข้อมูลต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าไม่เกิน 2-3 ปีก็น่าจะได้เห็น
“ได้เห็นแน่ภายในรัฐบาลนี้ ไม่เกิน 2-3 ปี เข้าใจว่าอาจจะต้องแก้กฎหมายเรื่องให้คนมายื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วย”
สำหรับเรื่องนี้หลักการก็คือ ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็จะต้องเสียภาษีอยู่แล้วในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ รัฐก็จะดูแลจัดสวัสดิการให้ ซึ่ง 2 ส่วนนี้สามารถอยู่ในระบบเดียวกันได้ ไม่จำเป็นต้องแยกเหมือนปัจจุบัน
“ในปัจจุบัน 2 ส่วนจะแยกกัน โดยเรื่องเก็บรายได้ เรื่องภาษี จะอยู่กับกรมสรรพากร ส่วนเรื่องสวัสดิการจะผ่านกรมบัญชีกลางบ้าง อาทิ คนพิการ ค่าเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ หรือผ่านกองทุนประชารัฐของกระทรวงการคลัง หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบ้าง โดยในต่างประเทศ อย่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย สหรัฐ หรืออื่น ๆ หลายประเทศก็ใช้ NIT ที่เป็น 2 ระบบรวมกัน คือใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็เสียภาษี แต่ใครไม่ถึงเกณฑ์ก็จะได้รับเงินคืนไป”
ทั้งนี้ หากใช้ระบบ NIT จะทำให้การบริหารจัดการงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคนไทยทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ไม่ว่าจะมีรายได้ถึงเกณฑ์หรือไม่ถึงเกณฑ์ ดังนั้น ทุกคนจะเข้าสู่ระบบภาษี ฐานภาษีก็จะขยายขึ้น
จากปัจจุบันมีผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่กว่า 30 ล้านคน แต่จ่ายภาษีจริง ๆ แค่ราว 12 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่รับสวัสดิการมี 13.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี เมื่อนำระบบ NIT มาใช้ ก็ต้องยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการจ่ายสวัสดิการแบบอื่น ๆ แล้วมาจ่ายผ่าน NIT แทน
“สศค.เคยศึกษาไว้ ว่าถ้าการให้สวัสดิการ คือ Welfare ก็มีคำถามว่า แบบนี้จะทำให้คนไม่อยากทำงานหรือเปล่า รอรับสวัสดิการอย่างเดียว ซึ่งระบบ NIT ที่เราคิดเอาไว้ จะเรียกว่า Workfare ไม่ใช่ Welfare สมมุติ คนทำงานแต่มีรายได้น้อย ก็อาจจะได้สวัสดิการ ที่จะจัดเป็นแพ็กเกจที่ต่างกันไป โดยแบ่งตามเกณฑ์ระดับรายได้ ก็จะมาเติมให้คนที่ทำงานมากกว่าคนที่ไม่ทำอะไรเลย ก็จะสร้างแรงจูงใจให้คนไปทำงาน” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การนำระบบ NIT มาใช้ มองว่าไม่ง่าย แต่ส่วนตัวก็มองว่าเป็นนโยบายที่ดี เนื่องจากจะไปช่วยเรื่องดึงคนเข้าระบบ เพราะถ้าใครไม่ยื่นภาษีก็จะไม่ได้เงิน และอีกอย่างจะช่วยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินอุดหนุนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามา
อาทิ เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อสามารถอุดหนุนผ่านข้อมูลทางด้านรายได้แทน ซึ่งจะต้องมีการไปโยกย้ายเงินอุดหนุนจากส่วนอื่นมา ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นมหาศาล เพื่อทำ NIT หรืออุดหนุนผ่านรายได้อย่างเดียว เช่น ต้องยกเลิกอุดหนุนสินค้าเกษตร เป็นต้น
“ปัญหาสำคัญก็คือ เราไม่มีหลักฐานรายได้ (Proof of Income) เพราะคนส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ ซึ่งถ้าให้ทุกคนยื่นแบบภาษี ใครมีเงินไม่ถึงเกณฑ์จะได้เติมเข้าไปให้ ทุกคนก็จะมาแสดงรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์นั้น เพื่อรับเงิน เพราะเราไม่มีหลักฐานรายได้ จึงเป็นความท้าทาย ว่าถ้าจะทำ จะแก้ปัญหา Fraud (โกง) อย่างไร ฉะนั้น ถ้าจะทำให้เวิร์ก อันแรกต้องมีข้อมูลรายได้ สอง ต้องมีหลักฐานรายได้ ว่าเป็นรายได้จริง หรือไม่จริง” ดร.พิพัฒน์กล่าว