คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์ ผู้เขียน : ดร.พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])
เงินเฟ้อภาษาชาวบ้าน คือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หน่วยงานที่ทำเงินเฟ้อ คือ กระทรวงพาณิชย์ เขาทำทุกเดือนโดยการสำรวจราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ในตลาดหลัก ๆ ในแต่ละจังหวัด แล้วนำมาสรุปว่า เงินเฟ้อเดือนนี้เป็นเท่าไร ในเงินเฟ้อเขาจะแยกเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น หมวดอาหารเครื่องดื่ม บริโภคในบ้าน บริโภคนอกบ้าน เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโดยสาร น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
เงินเฟ้อสำคัญอย่างไร เงินเฟ้อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบอกว่าของแพงหรือของถูก เช่น ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแปลว่าราคาข้าวของแพงขึ้น ถ้าอัตราเงินเฟ้อลดลงแปลว่าข้าวของถูกลง ถ้าแพงไปเรื่อย ๆ จะกระทบกับค่าครองชีพ ผู้บริโภคจะไม่ชอบ ผู้ผลิตของขายจะชอบ แต่ถ้าแพงมากไปจนผู้บริโภคไม่ซื้อ ผู้ผลิตก็อาจจะแย่ด้วย ในทางกลับกัน ถ้าถูกไปเรื่อย ๆ ผู้บริโภคจะชอบ ผู้ผลิตจะไม่ชอบ แต่ถ้าถูกมากไปก็จะกลายเป็นเงินฝืดได้
ดังนั้น เงินเฟ้อจึงเป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญมากในฐานะที่เป็นตัวแทนของเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
แล้วเงินเฟ้อเขาเอาไปใช้ทำอะไร แม้คนคำนวณเงินเฟ้อ คือ กระทรวงพาณิชย์ คนที่เอาไปวิเคราะห์เศรษฐกิจ คือ หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจต่าง ๆ แต่คนนำเงินเฟ้อไปใช้กำหนดเป็นเป้าหมายเชิงนโยบาย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 1-3 ต่อปี คือ ยอมให้เงินเฟ้อรายปีเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงดังกล่าว แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมปีนี้ด้วย (ปีนี้เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.4-0.5 เท่านั้น) พบว่า หลุดกรอบไป 7 ครั้ง ใน 7 ครั้ง หลุดขอบล่าง 6 ครั้ง หลุดขอบบน 1 ครั้ง จึงดูประหนึ่งว่าเรากำลัง
“ติดกับดักเงินเฟ้อต่ำ”
ส่วนตัวผมมองว่ามันต่ำจนเกินไป เรื่องนี้ต้องมองเป็นระบบเศรษฐกิจ มองเป็น Ecosystem เพราะการที่เงินเฟ้อต่ำ ในระยะแรกคนจะชอบ เพราะราคาข้าวของถูก มีเงินซื้อ แต่ถ้าผู้ผลิตของขาย ต้องขายของถูกไปเรื่อย ๆ รายได้ก็จะน้อย กำไรน้อย รัฐบาลก็เก็บภาษีได้น้อย และที่สำคัญผู้ผลิตก็ไม่อยากลงทุน ไม่อยากขยายกิจการ ไม่อยากเพิ่มกำลังการผลิต ไม่อยากจ้างงานเพิ่ม ไม่อยากขึ้นค่าแรง
ท้ายที่สุดเศรษฐกิจ หรือ GDP ก็ “โตต่ำ” “รายได้ประชาชนต่ำ” มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงินจึงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามไปด้วย ผมจึงมองว่าการที่เรามีเงินเฟ้อต่ำมายาวนานจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจ แต่สูงมากจนหลุดกรอบอันนี้ก็ไม่ดีอยู่แล้ว
ผมจึงนำการมองเงินเฟ้อมาเปรียบเทียบกับ “ถ้วยกาแฟ” ถ้ามองถ้วยกาแฟด้านหนึ่งจะเห็นหูถ้วยกาแฟ
ถ้ามองด้านตรงกันข้ามจะไม่เห็นหูถ้วยกาแฟ พอถามคนแรก คนแรกบอกถ้วยกาแฟนี้มีหูนะ อีกคนบอกไม่มี
ทั้ง ๆ ที่เป็นถ้วยเดียวกัน แปลว่า ถ้าเราสวมหมวกเป็นผู้บริโภค เราคงชอบเงินเฟ้อต่ำ ๆ แต่ถ้าเราสวมหมวกเป็นผู้ผลิตของขาย เราคงชอบให้มีเงินเฟ้อสูงกว่าที่เป็นในปัจจุบันสักหน่อย ฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารเศรษฐกิจจึงต้องมองทั้ง 2 ด้านของถ้วยกาแฟ เพราะในกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยก็ระบุถึงอำนาจหน้าที่ไว้ว่า “กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศโดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ และต้อง “กำหนดมาตรการที่จำเป็นให้สอดคล้องกับเป้าหมาย” ข้างต้นด้วย
ดังนั้น เราสามารถมองถ้วยกาแฟจากมุมมองเดียวกันได้ เพียงแค่หมุนถ้วยกาแฟหรือลุกมานั่งด้วยกันเท่านั้นเอง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด