คปภ.เผย หลังปิดยื่นทวงหนี้สินมั่นคงฯ หนี้กองทุนประกันลดลง 3 หมื่นล้าน มีจำนวนหนี้รวม 69,430 ล้านบาท เจ้าหนี้ทั้งสิ้น 800,669 ราย เร่งหาทางออกแก้ปัญหาต่อ
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า หลังจากปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 พบว่าหนี้กองทุนประกันวินาศภัยลดลงไป 3 หมื่นล้านบาท จากที่คาดการณ์ว่า 5 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเพราะเคลมประกันโควิด ประกอบด้วย 1.เอเชียประกันภัย 1950 2.เดอะ วัน ประกันภัย 3.ไทยประกันภัย 4.อาคเนย์ประกันภัย และ 5.สินมั่นคงประกันภัย จะมีจํานวนหนี้ค้างของกองทุนประกันวินาศภัย 1 แสนล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ 1 ล้านราย แต่ขณะนี้มีจำนวนหนี้รวม 69,430 ล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 800,669 ราย แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าเป็นภาระก้อนโตที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานหนักแก้ปัญหาต่อไป
โดยที่ผ่านมาความสามารถในการชําระหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย จะมาจากรายได้จากเงินสมทบเพิ่มเติมเป็นปีละประมาณ 1,428 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนได้พยายามแสวงหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เช่น การกู้ยืมเงิน ซึ่งกองทุนได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินในปี 2567 แต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้
และคณะอนุกรรมการของสํานักงานบริหารหนี้สาธารณะไม่อนุมัติวงเงินกู้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะประจําปี 2568 ทําให้ในปี 2568 กองทุนไม่สามารถกู้ยืม หรือออกตราสารทางการเงินได้ ทั้งนี้ กองทุนอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเข้ามาช่วยวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการการชําระหนี้ของกองทุน รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กองทุนกำลังเชิญผู้สนใจเข้ามาให้คำแนะนำกับทางกองทุน โดยระหว่างนี้ คปภ.ได้จัดสรรบุคลากรไปช่วยปฏิบัติงานของกองทุนไม่ต่ำกว่า 40 คน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคําขอทวงหนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและทบทวนกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันชีวิต และกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อให้การแสวงหาแหล่งเงินทุน การบริหารการจัดการหนี้ และการปฏิบัติงานของกองทุน มีความคล่องตัว และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้หารือร่วมกับกองทุน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการชําระหนี้ของกองทุนมาอย่างต่อเนื่อง
“มีคำถามเข้ามาตลอดเวลาว่าจะแฮร์คัตหนี้มั้ย จ่ายกี่ปี จ่ายหรือเปล่า เวลานี้ตอบได้แค่ว่าเราอยู่ระหว่างศึกษาแนวทาง ซึ่งคงจะใช้รูปแบบแนวทางแบบผสมกัน ซึ่งยังไม่ทราบผลลัพธ์สุดท้ายว่าคืออะไร รู้แต่เพียงว่าเราต้องดูแลหนี้ต่าง ๆ ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้านำเฉพาะรายได้กองทุน จ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ น่าจะใช้เวลา 30-40 ปี ประเมินจากจำนวนหนี้ค้างในปัจจุบัน” เลขาธิการ คปภ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม คปภ.จะร่วมมือกับกองทุนอย่างเต็มที่ ไม่ได้ปล่อยให้กองทุนอยู่เพียงเดียวดาย ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาในทุกวิถีทางอยู่