เปิดเส้นทางที่มาของภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้น สู่แผนปฏิรูปภาษีขึ้น VAT มากกว่า 7% ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% และภาษีบุคคลธรรมดา 15%
กลายมาเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่ร้อนแรง ทั้งภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน และฝ่ายการเงิน สำหรับการขึ้นภาษี VAT มากกว่า 7% ถูกปลุกขึ้นมาจากการประกาศผ่านงานปฐกถาพิเศษของ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา
เขาระบุว่า กำลังเร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และปรับให้สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเก็บอยู่ที่ 7% จากเพดานที่ให้เก็บได้ 10% ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบต่างประเทศทั่วโลกที่มีการเก็บภาษี VAT เฉลี่ยที่ 15-25% จนทำให้ประชาชนต่างมีข้อกังวลสำหรับรายจ่ายของตนที่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่น้อยคนนักจะรู้ว่ามันมีที่มา เส้นทางและหน้าที่แบบใด ?
VAT 10% ตั้งแต่เริ่ม
‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘VAT’ ย่อมาจาก Value Added Tax ซึ่งคำว่า มูลค่าเพิ่ม หมายถึง ค่าเงินที่เพิ่มขึ้นของแต่ละขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าและบริการ เปรียบเทียบได้จากราคาสินค้าและบริการที่ผลิต หรือจำหน่าย กับราคาสินค้าและบริการที่ซื้อมาเพื่อใช้ในการผลิต
โดย VAT เป็นภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิตสินค้า หรือบริการ และการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่าง ๆ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่เก็บจากผู้บริโภค แล้วนำไปชำระให้แก่รัฐบาล ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 80 ระบุว่า ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 10.0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้
- การขายสินค้า
- การให้บริการ
- การนำเข้า
ทั้งนี้เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา 80/2
อัตราภาษีตามวรรคหนึ่งให้ลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องกำหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกันสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ และการนำเข้าทุกกรณี
ด้วยข้อความข้างต้นเป็นที่มาของพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 236 พ.ศ. 2534 พ.ร.ฎ. ฉบับแรกที่กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนราชการส่วนท้องถิ่นในอัตราร้อยละ 0.7 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ
ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นร้อยละ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นครั้งแรก ก่อนจะตามมาด้วยพระราชกฤษฎีกาฯ อีกหลายฉบับที่ขยายเวลาในการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 479 พ.ศ. 2551
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 549 พ.ศ. 2555
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 592 พ.ศ. 2558
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 646 พ.ศ. 2560
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 669 พ.ศ. 2561
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 684 พ.ศ. 2562
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 715 พ.ศ. 2563
- พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 724 พ.ศ. 2564
แม้ว่าจะมีการลดอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยปรับเพิ่มขึ้นเลย ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ จนต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ไทยปฏิบัติตามข้อเสนอในการรัดเข็มขัดและรักษาวินัยทางการเงินจาก IMF เพื่อให้สถานะการคลังแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 กลับมาเป็นร้อยละ 10 เมื่อปี 2540 ก่อนจะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาเป็นร้อยละ 7 ดังเดิมตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2542
เพิ่มเปอร์เซ็นต์ VAT เพิ่มรายได้รัฐ ?
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า ปีงบประมาณ 2567 ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ถือเป็นแหล่งรายได้อันดับ 2 ของรัฐ รองจากรายได้จากกลุ่มรัฐวิสาหกิจ กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐในการดำเนินกิจการต่าง ๆ อาทิ ระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ รวมถึงการเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจ และควบคุมการบริโภคของประชาชน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพในทางเศรษฐกิจ
ตรงกับจุดประสงค์ของรัฐบาลที่ รมว.พิชัย กล่าวไว้ว่า การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เงินกองกลางหรือที่หมายถึงเงินในคลังใหญ่ขึ้น ก็จะเป็นการส่งมอบโอกาสกับคนที่มีรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่าง ๆ ของรัฐในการอำนวยความสะดวก และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย
ขณะที่ความเห็นจำนวนมากทั้งระดับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและภาคประชาชน ระบุว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงมาเหลือร้อยละ 7 ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อาจทำให้ประชาชนเคยชิน และรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่พิชัยแง้มมานั้น อาจส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของตนเองที่จะเพิ่มมากขึ้น
โยนหินถามทางรอบ 2
แต่สำหรับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยนั้น ดูเหมือนจะไม่มีวี่แวว เนื่องจากมีการลดอัตราคงไว้ที่ร้อยละ 7 มานานหลายปี แต่เมื่อย้อนกลับไปปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น เคยเปรยการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า หากเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จะทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท
สวนทางกับการวิเคราะห์ของ ศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC ว่า การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1 จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทยเพียง 70,000-80,000 ล้านบาทเท่านั้น
แม้ว่าจบวาระของรัฐบาลประยุทธ์ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 1% จะไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปัญหารายรับของภาคการคลังที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเผชิญ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลนี้จะต้องการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้คลังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมา ประกอบกับเหตุผลที่พิชัยกล่าวว่า การเก็บสูงขึ้นถือเป็นความเหมาะสม และทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะลดลง
จากการที่คนรวยและคนฐานะปานกลางจ่ายเพิ่มขึ้น เงินกองกลางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนรายได้น้อยได้รับโอกาสในการดำรงชีวิตที่สูงขึ้นผ่านมาตรการรัฐ อาทิ สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล สถานศึกษา นอกจากนี้ยังสามารถนำเงินกองกลาง ที่หมายถึงรายได้รัฐไปเพิ่มความสามารถให้กับนักธุรกิจภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจต่ำลง เป็นผลดีต่อการส่งออกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามพิชัยเองก็ทราบดีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และภายหลังไม่นานกระแสจากทุกภาคส่วนก็มุ่งเป้ามาที่ทุกฝั่งของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเหตุให้แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงเพื่อลดความกังวลใจของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า
“จากข้อกังวลใจของพี่น้องประชาชน ต่อเรื่อง VAT 15% วันนี้ได้พูดคุยหารือในประเด็นดังกล่าว กับท่านรองนายกรัฐมนตรี พิชัย ร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อความชัดเจน ดังนั้นขอสรุปเพื่อชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน
1. ไม่มีการปรับ VAT เป็น 15%
2. กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องมองทั้งระบบให้ครบทุกมิติและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3. การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอื่น ๆ ใช้เวลาศึกษาและปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางประเทศใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 10 ปี
4. นโยบายหลักของรัฐบาล คือการลดรายจ่ายของประชาชน ลดรายจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ ควบคู่ไปกับการหาโอกาสจากการสร้างรายได้ใหม่ให้ประชาชน ทั้งหมดนี้ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนคนไทย
พร้อมยืนยันขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า การทำงานของรัฐบาล เราดำเนินการด้วยความรัดกุม รับฟังทุกภาคส่วน และยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยของเราทุกคน”
ข้อมูลจาก กรมสรรพากร, สำนักนโยบายภาษีและ ธนาคารแห่งประเทศไทย