สมาคมธนาคารไทยเผย โครงการแก้หนี้ครัวเรือน โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว คาดช่วยเหลือลูกหนี้แบงก์-บริษัทลูกรวม 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะมีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ และเริ่มมีความต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ แต่ครัวเรือนและผู้ประกอบการรายเล็กบางส่วนยังคงประสบปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้ ข้อมูล NCB ยังชี้ว่าปัจจุบันประชากรกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่เป็นอนาคตของชาติติดกับดักหนี้สูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้บ้านและหนี้รถ
อย่างไรก็ตาม สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการผลักดันมาตรการต่าง ๆ มาโดยตลอด ซึ่งสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” อย่างเต็มที่ บนความร่วมมือของภาครัฐและสถาบันการเงิน ในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูง และประสบปัญหาในการชำระหนี้จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า
และยังไม่ทั่วถึงให้สามารถประคองตัว รักษาสินทรัพย์สำคัญกับความมั่นคงของชีวิตกับครอบครัว และที่เกี่ยวกับการทำมาหากินทั้งที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ สถานประกอบการ หรือกิจการธุรกิจครัวเรือน เป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาสังคม และความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น และช่วยให้ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจแน่วแน่ในการลดหนี้มีโอกาสที่จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติในระยะข้างหน้าเมื่อรายได้ฟื้นตัว
โดยคาดว่า ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มได้ราว 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท
สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยด้านความยั่งยืน (Sustainability) ในการจัดการกับปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการ 5 ข้อ ได้แก่
1. การมีความรู้ความเข้าใจในการกู้ยืม (Healthy Borrowing) ให้ข้อมูลเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน และใช้สินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ไม่เกินกำลัง
2. การแข่งขันแบบเสรีไม่ผูกขาด (Open Competition)
3. ความโปร่งใสและเท่าเทียมระหว่างผู้ให้สินเชื่อ (Level Playing) ทุกกลุ่มเจ้าหนี้ ทั้งธนาคาร Nonbank และสหกรณ์ อยู่บนกฎกติกาที่เท่าเทียมกัน
4. ความยุติธรรม (Fairness) ของอัตราดอกเบี้ยต้องสะท้อนความเสี่ยงที่เป็นจริง ลดภาระลูกหนี้ดีที่ต้องแบกภาระลูกหนี้ที่ไม่ดี
5. ความครอบคลุมและเข้าถึง ทุกฝ่ายมองเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้กำกับ และภาครัฐ ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากโครงสร้างหรือข้อจำกัดของระบบ และทุกภาคส่วนร่วมแชร์ความเสี่ยงอย่างเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้
ทางด้านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะเป็นจุดตั้งต้นของก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม สอดประสานกับมาตรการ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นไปที่ต้นตอของปัญหา และกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นในการได้รับความช่วยเหลือด้วยทรัพยากรสาธารณะ เป็นมาตรการชั่วคราวที่ยาวถึง 3 ปี ที่เพียงพอในการสนับสนุนและรองรับกับมาตรการระยะถัดไปของภาครัฐ ทั้งในมิติของการมีสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นต่อครัวเรือน และการปฏิรูปด้านอื่น ๆ
ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาทลายข้อจำกัดและปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งการยกระดับข้อมูลหนี้สินที่จัดเก็บในระบบฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ให้ครอบคลุม โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสินเชื่อเข้าเป็นสมาชิก NCB ให้ครบถ้วน ลดความเหลื่อมล้ำของการได้มาซึ่งบุริมสิทธิ ด้วยโครงสร้างของกฎหมายที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินความจำเป็น หรือเกินกำลัง รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถทราบ และเข้าใจศักยภาพของลูกหนี้ที่แท้จริง ส่งเสริมการมีหนี้ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสมกับรายได้ ไม่เกินกำลังในการชำระคืน รวมถึงให้มีรายได้ขั้นต่ำที่พอเพียงในการดำรงชีพ
นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการยกระดับรายได้ให้กับภาคครัวเรือนและ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ส่งเสริมการยกระดับและการรับรองระดับฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปสู่ระดับค่าจ้างที่สูงขึ้น ในขณะที่ธุรกิจรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ/หรือ เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ควรมีบทบาทในการดูแลคู่ค้าที่เป็น SMEs ในห่วงโซ่อุปทานให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำการค้า และมีความโปร่งใสในเรื่องเทอมทางการค้า ปรับตัว และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกัน
“ในนามสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และ เป็นการกระตุกพลังครั้งสำคัญ เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บนเป้าหมายเดียวกันที่อยากเห็นคนไทย ธุรกิจ SMEs ไทย สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยความสามารถในการมีทักษะอาชีพและรายได้ที่เพียงพอ ความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ และมีสวัสดิการพื้นฐานขั้นต่ำที่จำเป็นอย่างครอบคลุม”