
“ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” ปิดปี 2567 รายได้ลดลงเหลือ 9.4 พันล้านบาท ชี้ปัจจัยภายนอกส่งผลต่อความเชื่อมั่นของบุคลากรทางการแพทย์-ผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลหลัก บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 1.76 พันล้านบาท ตามงบการเงินรวม เหตุมีการบันทึกด้อยค่าเงินลงทุน-สินทรัพย์-ค่าใช้จ่าย 6 รายการใหญ่
บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทในเครือในปี 2567 ที่รายงานตามงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการ โดยบริษัทมีรายได้รวมจำนวน 9,479.34 ล้านบาท และ 5,648.48 ล้านบาท ลดลง 3.70% และ 2.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตามลำดับ) โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากกิจการโรงพยาบาล ซึ่งได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 4/2567 จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลหลัก
และบริษัทมีกำไรขั้นต้นจำนวน 2,108.41 ล้านบาท และ 1.532.92 ล้านบาท ลดลง 14% และ 10.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 22.24% และ 27.14% โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากกิจการโรงพยาบาล ซึ่งลดลงมากกว่าต้นทุนจากการขายเเละบริการบางประเภทที่มิได้ผันแปรตามการลดลงของรายได้ อาทิ ต้นทุนค่าบุคลากรทางการแพทย์ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายซึ่งแฝงอยู่ในต้นทุน เป็นต้น
และบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทจำนวน 1,764.51 ล้านบาท และ 2,872.66 ล้านบาท ลดลง 697.31% และ 496.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตามลำดับ) โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 18.61% และ 50.86% โดยสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ลดลงและการดำเนินแนวทางอย่างรอบคอบตามมาตรฐานบัญชี โดยมีรายละเอียดการบันทึกรายการพิเศษนอกเหนือจากรายการปกติสำหรับปี 2567 ดังนี้
1.ขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุน ประกอบด้วย 1.1. บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด 1,500 ล้านบาท 1.2. บริษัท โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง จำกัด 1,305 ล้านบาท (ในงบการเงินฉพาะกิจการ) โดยบันทึกในงวดไตรมาส 4/2567
2.ขาดทุนจากการด้อยค่าต้นทุนการพัฒนาโครงการ (บจ.ธนบุรี เวลบีอิ้ง) 219.37 ล้านบาท (ในงบการเงินรวม) โดยบันทึกในงวดไตรมาส 4/2567
3.ขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินถาวร (บจ.ธนบุรี เวลบีอิ้ง) 588.51 ล้านบาท (ในงบการเงินรวม) โดยบันทึกในงวดไตรมาส 4/2567
4. ขาดทุนจากการด้อยค่าสิทธิการใช้ (บจ.โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง) 278.53 ล้านบาท (ในงบการเงินรวม) โดยบันทึกในงวดไตรมาส 4/2567
5.ค่าใช้จ่ายค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต 122.34 ล้านบาท โดยบันทึกในงวดไตรมาส 4/2567 สำหรับงบการเงินรวม และ 654.52 ล้านบาท สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ
6.ค่าใช้จ่ายค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต 442.23 ล้านบาท โดยบันทึกในงวด 9 เดือนแรกปี 2567 สำหรับงบการเงินรวม 27.90 ล้านบาท สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ
โดยมีผลรวมการบันทึกรายการพิเศษ 1,650.99 ล้านบาท ในงบการเงินรวม และ 3487.42 ล้านบาท ในงบการเงินเฉพาะกิจการ
ทั้งนี้ผลประกอบการสำหรับปีที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานปกติของบริษัทคือ ขาดทุนสุทธิ 121.38 ล้านบาท ในงบการเงินรวม และขาดทุนสุทธิ 614.76 ล้านบาท สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ ลดลง 69.04% และ 15.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตามลําดับ) โดยคิดเป็นอัตรากําไรสุทธิ 1.28% และ 10.88%
“ในปี 2567 บริษัทเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และการเติบโตของบริษัท โดยปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในตลาดบริการสุขภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแปลงนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการประกันสุขภาพและการควบคุมค่ารักษาพยาบาล
ในขณะที่ปัจจัยภายในยังมีผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานและการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านความเชี่ยวชาญและทักษะการบริหาร พร้อมทั้งยกระดับระบบควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการบริหารบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน และพันธมิตรทางธุรกิจ
ในส่วนของการบริหารจัดการทางการเงิน บริษัทได้ดำเนินแนวทางที่ระมัดระวัง (Conservative) ตามมาตรฐานบัญชี เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการรายงานทางการเงินและลดความเสื่อมทางการเงิน ซึ่งภายหลังจากการปรับโครงสร้างผู้บริหาร บริษัทได้พิจารณาตั้งบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ รวมถึงการรับรู้ค่าใช้จ่ายพิเศษจากการด้อยค่าเงินลงทุน ทรัพย์สิน และตั้งค่าผลขาดทุนด้านเครติด เพื่อสะท้อนความเสี่ยงทางการเงินอย่างเหมาะสมและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”