
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการจีดีพีปี 68 เหลือโต 1.8% จาก 2.7% รับเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ-สหรัฐฯ ขึ้นภาษีซ้ำเติม ชี้ หากยังไม่เจรจาและครบกำหนดเก็บภาษี 90 วัน คาดส่งออกชะลอ กดดันจีดีพีชะลอเหลือโต 1.4% เสี่ยงถดถอยเชิงเทคนิค ด้านดอกเบี้ยคาดลดต่อเนื่องเหลือ 1.25% ต่อปี
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากเดิม 2.7% เหลือ 1.8% อย่างไรก็ดี แม้ว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ของไทย 10% แต่ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ กำลังซื้ออ่อนแอ ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ เกิดแผ่นดินไหว และนักท่องเที่ยวจีนมาน้อย ซึ่งทำให้จีดีพีลดลงจากหลากหลายปัจจัย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) ไทย 36% ออกไป 90 วันนั้น ธนาคารได้ทำสมมติฐานไว้ หากกรณีการเลื่อนภาษีครบกำหนด และยังไม่ได้มีการเจรจา ทำให้ภาคการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 3 และ 4 ชะลอตัวลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.4%
และภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวเพียงเล็กน้อย โดยคนชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน จะเห็นว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยเหลือ 0.5% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจชะลอทั้งไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) และเทียบปีต่อปี (YoY) ซึ่งเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค
ขณะที่การส่งออกอาจโตเพียง 1.4% การผลิต-การนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรลดลง การลงทุนชะลอตัว รายได้แรงงานและนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มอ่อนตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบาง ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณท์ อาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น
”ผลกระทบทางอ้อมจะมีสูง เพราะจีนโดน 125% โลกจะถูกฉีกเป็น 2 ขั้ว และมูลค่าการค้าโลกลดลง ทำให้การค้า การส่งออก การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากเดิมโตได้ 2% เหลือ 1.4% ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่ากังวลหรือต่ำกว่าศักยภาพ“
ดังนั้น นโยบายการเงิน จากเดิมที่เคยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะรอดูตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1/68 ออกมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 คาดว่ากนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 3 ครั้ง ในเดือนเมษายน มิถุนายน และครึ่งหลังของปีนี้ จากระดับ 2.00% ลงมาอยู่ 1.25% ต่อปี แต่หากเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าคาด อาจมีการลดดอกเบี้ยลงถึงระดับ 1.00% และภายใต้จีดีพีขยายตัว 0.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไม่ขยับเข้ากรอบเป้าหมายในระยะสั้น อุปสงค์โตช้า และอัตราการเติบโตจีดีพีไม่ได้เร่งแรงในไตรมาสที่ 1 และ 2/68
“เศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวรุนแรง เพราะการลดดอกเบี้ยไม่ได้สนับสนุนสินเชื่อและสภาพคล่องมากนัก เพราะธนาคารพาณิชย์ระมัดระวัง จึงต้องระวังกับดักสภาพคล่อง เพราะการส่งผ่านดอกเบี้ยไม่มีประสิทธิภาพ คนขาดความเชื่อมั่น แต่ช่วยลดต้นทุนของคนได้”
สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปีที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าจะอ่อนค่าช่วงกลางปี ก่อนจะทรงตัวปลายปี จากปัจจัยที่ดอลลาร์แข็งค่าในภาวะตลาดผันผวน กดดันค่าเงินประเทศเกิดใหม่รวมถึงค่าเงินบาท ดังนั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าไตรมาสที่ 2/68 จากการไหลออกของเงินทุน การนำเงินปันผลกลับประเทศ รายได้ท่องเที่ยวทรงตัวหรือชะลอลง
นอกจากนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น ระหว่างไทยกับสหรัฐ กดดันเงินบาทเพิ่มเติม อยากให้ระวังเงินบาทผันผวนอ่อนค่าอีกครั้งช่วงปลายปีหากมีความไม่แน่นอนในการเก็บภาษีที่สูงขึ้น
ขณะที่ฐานท่องเที่ยวไทยที่แข็งแกร่ง และผลกระทบจากสงครามการค้าที่จำกัด อาจช่วยให้เงินบาทเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” ระดับภูมิภาคได้บางส่วน ภาคการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มเพียงเล็กน้อย คาดว่าจะมี 37.1 ล้านคนปีนี้ เทียบกับ 35.5 ล้านคนปีก่อน จากเป้าหมายเดิม 39 ล้านคน
อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐที่ควรเร่งทำนั้น มองว่า ต้องมีทีมเจรจา เพื่อตั้งหลักต่อคิวไว้ก่อน เพราะไทยยังมีไทม์ไลน์เหลือ 90 วัน โดยพยายามเจรจาในเรื่องลดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ให้ได้ และลดกฎระเบียบเรื่องที่ไม่ใช่ภาษี และภายใต้เศรษฐกิจชะลอตัว ควรหามาตรการเข้ามาดูแลกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ระดับกลางและล่าง อาจจะเป็นการสร้างอาชีพ รวมถึงการดูแลกลุ่มระดับกลางและบนที่ขาดความเชื่อมั่น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเกิดการใช้จ่าย โดยใช้มาตรการคลังดูแลเฉพาะจุด และมาตรการเงินมาเสริม รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
”ในระยะต่อไปหากจะมีมาตรการใดๆ ต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพของมาตรการ แม้ว่าการแจกเงินจะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ แต่ควรเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียน การสร้างงาน-สร้างอาชีพด้วย เป็นต้น ขณะเดียวกันการเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจาก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะหากผ่าน 90 วันไปแล้ว เราต้องกลับมาเสียภาษีในอัตรา 36% ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมาก”