“กิตติพันธ์” ดิ้นหนีบ่วงคดี “เอิร์ธ”

กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง สำหรับคดีฉาว EARTH หรือ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เมื่อนายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) หรือ CIMBT) ลุกขึ้นมา “ร้องขอความเป็นธรรม” เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562 หลังจากได้รับหนังสือกล่าวหา จากคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษของธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61 ที่ผ่านมาว่า ได้กระทำการทุจริตและบกพร่องเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่ EARTH พร้อมกับยืนยันว่า ได้มีการอนุมัติสินเชื่อไปตามกระบวนการของธนาคารกรุงไทย ทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้บริหารของ EARTH เพื่อไปซื้อเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย โดยทำเอกสารปลอมแปลงต่าง ๆ รวมถึงทำออร์เดอร์ลม ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาราว 2.6 หมื่นล้านบาท โดยเกิดขึ้นในช่วง นายกิตติพันธ์ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อยกู้ และอยู่ในยุคที่ นายวรภัค ธันยาวงษ์ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกิตติพันธ์ได้พยายามกล่าวลำดับเหตุการณ์ที่ถูกธนาคารกรุงไทยดำเนินการกับตนว่า จากกรณีปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ EARTH เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 60 หลังจากนั้นเดือน ส.ค. 60 ตนได้รับจดหมายเชิญจากธนาคารกรุงไทย เพื่อนัดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และต่อมาในเดือน ต.ค. 60 ธนาคารกรุงไทยส่งหนังสือ “กล่าวหา” ตน ใน “ข้อหา” ที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ในการนำเสนอสินเชื่อที่ทำให้คณะกรรมการอนุมัติสินเชื่อแล้วก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ธนาคาร

“แต่ไม่มีรายละเอียดว่า ข้อมูลใดที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง หรือการนำเสนอสินเชื่อครั้งไหน และเป็นข้อมูลที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร ซึ่งผมก็ทำหนังสือไปหาธนาคารกรุงไทย เมื่อปลายเดือน พ.ย. 60 เพื่อขอให้ระบุรายละเอียดในการแจ้งข้อกล่าวหา เพราะมองว่าการระบุลอย ๆ คงจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงอย่างเป็นธรรม” นายกิตติพันธ์กล่าวและว่า จนถึงกลางเดือน ม.ค. 61 ตนยังคงไม่ได้รับรายละเอียดเพิ่มเติม จึงได้เขียนจดหมายไปทวงถามอีกครั้ง และอีก 10 วันต่อมา ได้รับคำตอบจากธนาคารกรุงไทยว่า รายละเอียดของจดหมายที่ส่งมาในเดือน ต.ค. 60 นั้น “ชัดเจน” อยู่แล้ว

นายกิตติพันธ์กล่าวว่า สิ่งที่ส่งกลับมาก็ยังคงยังเห็นความคลุมเครือในข้อกล่าวหา จึงส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปที่ธนาคารกรุงไทย ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 61 แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เคยได้รับการตอบกลับจากธนาคารอีกเลย รอจนถึงวันที่ 25 ธ.ค. 61 ที่ธนาคารกรุงไทยออกจดหมายกล่าวหา “กิตติพันธ์” ด้วยข้อหาที่ร้ายแรง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องมิจฉาชีพ

และในระหว่างทาง ตนเห็นท่าว่าจะรอเก้อ จึงได้ส่งหนังสือและเข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 3 ครั้ง แต่ทาง ธปท.บอกว่า ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องรอให้กระบวนการเสร็จสิ้นลง

“ตอนนี้กระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว ก็หวังว่าแบงก์ชาติจะมีโอกาสเข้าไปดูความไม่เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ รวมถึงผมเองด้วย” นายกิตติพันธ์กล่าว

จากเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า นายกิตติพันธ์ยังมีคุณสมบัตินั่งตำแหน่งนายแบงก์อยู่ CIMBT อยู่หรือไม่ ซึ่ง นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่ ธปท.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด จึงได้กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินไว้ในระดับที่สูง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งก็เป็นแนวที่ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลทั่วโลกใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

“กรณีข่าวเกี่ยวกับอดีตผู้บริหารของ ธ.กรุงไทย เป็นเรื่องที่กระทบต่อคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของผู้ทำหน้าที่บริหารสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทย ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และ ธปท.เห็นว่ายังมีข้อมูลที่ต้องให้ ธ.กรุงไทย ชี้แจงเพิ่มเติมในบางประเด็น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการรอข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” นางจันทวรรณกล่าว

จากกรณีของเอิร์ธ กับพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อหย่อนยานของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จนกลายเป็นเรื่องฉาวอีกครั้งในวันนี้ ก็ได้มีการเทียบเคียงกับกรณีคดีปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มผู้บริหาร บมจ.กฤษดามหานคร มูลค่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหารกรุงไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องคดีนี้ ได้ถูกลงโทษจำคุกไล่เรียงตั้งแต่ระดับพนักงานจนถึงคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารกรุงไทยในยุคนั้น ซึ่งน่าจะเป็นบรรทัดฐานเดียวกับกรณีนี้หรือไม่

เป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบ