ก.ล.ต.ตรวจสอบ KTB กรณีหุ้นกู้เอิร์ธ ปม “ผลประโยชน์ทับซ้อน” กลุ่มแบงก์

ก.ล.ต.ขยายผลปม “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของกลุ่มธนาคารกับบริษัทในเครือ สร้างความเสียหายนักลงทุน-ผู้ถือหน่วย แก้กฎหมายเอาผิดถึงตัวกรรมการ บลจ. ชี้กรณีปัญหาหนี้เสีย “EARTH” แบงก์กรุงไทยปล่อยสินเชื่อ และอันเดอร์ไรต์ขายหุ้นกู้ เผยมีประเด็นต้องตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

จัดโครงสร้างตลาดทุน

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ซึ่งทางรัฐบาลก็เร่งให้กฎหมายต่าง ๆ ผ่านออกมา ก็คาดว่าจะสามารถบังคับได้ภายในปีนี้ เรื่องใหญ่ของกฎหมายจะเกี่ยวกับการตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ว่าเงิน CMDF จะเป็นของใคร หรือจะต้องใช้ในวัตถุประสงค์อะไร ส่วนที่เหลือการปรับแก้ไขกระบวนการกำกับดูแล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล หรือมีมาตรการให้เพียงพอในการปกป้องรวมถึงที่มาที่ไปของกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเป็นตัวแทนที่มาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องครบหรือยัง จากปัจจุบันจะมีผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯโดยตำแหน่ง และ 5 คนจะมาจากตัวแทน โบรกเกอร์ และอีก 5 คน เสนอโดย ก.ล.ต. ก็มีการปรับลดส่วนตัวแทนโบรกเกอร์เหลือ 4 คน

“การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ ด้านหนึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. อีกด้านก็เป็นการแก้โครงสร้าง ตั้งแต่กรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ กระบวนการคัดเลือกตัวแทน 6 คน ซึ่งกฎหมายก็ให้ชัดว่า องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีสิทธิเสนอชื่อมีใครบ้าง เมื่อถึงเวลาเลือกกรรมการ ในซีกของ ก.ล.ต.ก็จะสามารถเลือกได้เฉพาะคนที่ stakeholder เสนอมา ซึ่งเป็นระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง แต่ครั้งนี้จะมีการเขียนไว้ชัดในกฎหมาย”

แก้ปม “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

นายรพีกล่าวว่า การปรับแก้กฎหมายใหม่ เป็นเรื่องของภาพในระยะยาว เป็นการวางพื้นฐาน เช่น เรื่องกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องเงินกองทุน CMDF เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และกรรมการจะต้องมีตัววัดต่าง ๆ เพื่อในระยะยาวจะได้รู้ว่าจะจัดการเงินดังกล่าวอย่างไร เป็นต้น รวมถึงข้อกำหนดที่ชัดเจนป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กับธนาคารแม่ โดยให้มุ่งเน้นระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน

“กรณี conflict of interest อย่างที่เราเห็น บลจ.ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร ด้านหนึ่งคือรับเงินประชาชนมาบริหารและลงทุน แต่กระบวนการลงทุนมีทรานแซ็กชั่นที่เกี่ยวข้องบริษัทแม่ เช่น การส่งคำสั่งซื้อขายในเครือ ถามว่าทำไมส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัทในเครือ สิ่งนี้เป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ บลจ.แล้วหรือยัง เสียค่าธรรมเนียมในระดับราคาต่ำที่สุดหรือไม่ ได้บทวิเคราะห์ดีที่สุดหรือเปล่า หรือส่งผ่านบริษัทหลักทรัพย์นี้เพียงแค่เป็นบริษัทในเครือ เป็นต้น”

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทกำลังให้บริการลูกค้า และบริหารเงินของคนอื่น ดังนั้น การทำธุรกรรมต่าง ๆ จะต้องมั่นใจได้ว่า จะไม่เกิด conflict of interest ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทแม่นำมาเสนอขายจะต้องดูความเสี่ยงให้ครบ ไม่ใช่ว่าบริษัทอื่นมีผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าแต่ไม่ซื้อ เพราะไม่ใช่บริษัทในเครือ สรุปว่าได้หาของที่ดีที่สุดให้ลูกค้าหรือยัง สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหม่ของกองทุนรวมและตราสารหนี้

กฎหมายปัจจุบันการกำกับดูแลลงโทษ บลจ.ไปไม่ถึงกรรมการ ลงโทษเพียงตัวบริษัท ดังนั้นก็จะปรับแก้ คล้ายกับการกำกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีเกณฑ์ควบคุมและลงโทษถึงตัวกรรมการบริษัทด้วย

ตรวจสอบ KTB กรณีเอิร์ธ

นายรพียกกรณีธนาคารกรุงไทยว่า เป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในการออกและเสนอขายตราสารหนี้ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการดูข้อมูลเพื่อคัดกรองสินค้าที่นำมาเสนอขายประชาชนมากน้อยแค่ไหน ในกรณีธนาคารถือว่ามีความซับซ้อนมาก เพราะดำเนินงานอยู่ภายใต้หมวกเดียวกัน เช่น กรณีปัญหาหนี้เสียของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH ซึ่งถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ต้องการออกหุ้นกู้ ธนาคารกรุงไทยก็ทำอันเดอร์ไรต์หุ้นกู้ให้ ขณะที่ก่อนหน้ามีการให้สินเชื่อไปแล้ว ก็มีคำถามว่าตอนที่เข้าไปทำ underwrite หุ้นกู้ รู้หรือไม่ว่าสินเชื่อหรือเครดิตของลูกค้ารายนี้ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถือว่าเป็นการผ่องถ่ายความเสี่ยงไปสู่มือประชาชน โดยที่ธนาคารรอดตัวหรือเปล่า

“ก.ล.ต.จึงต้องเข้าไปดูระบบตอนพิจารณาว่า มีการคานอำนาจ และดูข้อมูลที่มากกว่าข้อมูลสาธารณะหรือเปล่า ซึ่ง ก.ล.ต.ติดตามดูทุกเคส ไม่เพียงเคสนี้ เนื่องจากประเด็น conflict of interest เป็นประเด็นที่ทั้ง ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วงมาตลอด”

สำหรับกรณีอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีปล่อยสินเชื่อให้กับ EARTH ยังต้องติดตามดู เนื่องจากคดีความยังไม่ยุติ และการจะพิจารณาว่าผู้บริหารผ่านหรือไม่ผ่านคุณสมบติ จะต้องอ้างอิงกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท.ยังต้องติดตามคำพิพากษาสุดท้ายเช่นกัน เนื่องจากยังมีสิทธิอุทธรณ์ หรือยังเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในศาลแรงงานได้ เป็นต้น

เตือนเสี่ยง “หุ้นกู้ตลอดชีพ” 

นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต.ยังได้เตือนนักลงทุนถึงความเสี่ยงในการลงทุนประเภท “หุ้นกู้ตลอดชีพ” (perpetual bond) ว่า ช่วงที่ผ่านมา บริษัทเอกชนขนาดใหญ่เสนอขายหุ้นกู้ประเภทนี้มากขึ้น และนักลงทุนรายย่อยก็ให้ความสนใจกันมาก เพราะมีการเสนอผลตอบแทนในช่วงปีแรก ๆ ค่อนข้างสูง แต่ผู้ซื้อหรือนักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่า หุ้นกู้แบบตลอดชีพ หมายความว่า ผู้ลงทุนจะ “ไม่ได้รับคืนเงินต้น” เพราะไม่มีอายุการไถ่ถอน เท่ากับว่านักลงทุนต้องร่วมรับความเสี่ยงกับบริษัทตลอดไป

เหตุผลที่บริษัทขนาดใหญ่มาออกหุ้นกู้ประเภทนี้มากขึ้น เพราะเมื่อนับเป็นหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นก็ไม่เสีย dilution ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินของธุรกิจ รวมถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ละบริษัทจึงออกมาเพื่อล็อกต้นทุน อีกส่วนหนึ่งคือธนาคารเริ่มเข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้น หลัง ธปท.แสดงความกังวลเกี่ยวกับฐานะของธนาคาร ดังนั้น สิ่งที่ ก.ล.ต.ทำได้คือเตือน และให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลมากที่สุด และสำหรับรายย่อยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็ควรให้มืออาชีพช่วย ก็คือลงทุนผ่านกองทุนต่าง ๆ จะดีกว่า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!