“บาทแข็ง”ทุบส่งออกหลุดเป้า มี.ค.แบงก์ชาติรีวิวตัวเลขจีดีพี

ผู้ส่งออกโอดบาทแข็ง “เร็ว-แรง” แตะระดับ 31 บาท ทุบส่งออกปีนี้ต่ำเป้า หวั่นฉุดราคาสินค้าวัตถุดิบการเกษตรตกต่ำอีกระลอก แบงก์ชาติยอมรับส่งออกครึ่งปีแรกเสี่ยง “หดตัว” ทั้งจากปัจจัยค่าเงิน-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เผยเดือน มี.ค.เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่

บาทแข็งเร็ว-แรงทุบราคาเกษตร

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากภาวะบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีถึงระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าเกือบ 3% จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ 8% โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและต้องแข่งราคา ทำให้รายได้ที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทจะลดลง ส่งผลเชื่อมโยงให้ราคาสินค้าวัตถุดิบการเกษตรลดลงตามไปด้วย ภาครัฐควรมีมาตรการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างจริงจัง

“บาทแข็งค่ามีผลให้การส่งออกไทยปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าแน่นอน เพราะแข่งขันราคาสู้ไม่ได้เลย ถ้ายังอยู่อย่างนี้สุดท้ายปัญหาจะตกที่เกษตรกร ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลก็ต้องมาดูแลสินค้าเกษตรอีก กลับไปสู่วังวนเดิม ค่าเงินบาทแข็ง เร็ว แรง ลึก จนเกินไป แบงก์ชาติต้องยอมรับว่าวันนี้บาทแข็งที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่ภูมิภาคแล้ว”

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่าบาทแข็งอาจมีประโยชน์ในการใช้เป็นโอกาสในการนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยี แต่ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและทุนเข้ามาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งปีนี้จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเอกชนแต่ละราย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นปัจจัยลบสำคัญ ตั้งแต่ต้นปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.28% ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิแพงขึ้นตันละ 60 เหรียญสหรัฐจากราคา 1,200 เหรียญ ส่วนข้าวขาวแพงขึ้น 20 เหรียญ จากราคา 400 เหรียญ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และเชื่อมโยงต่อราคาวัตถุดิบภายในประเทศ

ส่งออกครึ่งปีแรกเสี่ยง “หดตัว”

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า ปี 2562 การส่งออกจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายที่การส่งออกชะลอมากกว่าคาด ขณะที่ปีนี้ต้องจับตาการเจรจาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งหากออกมาดีก็จะเป็นบวกต่อการส่งออกของไทย โดย ธปท.จะมีการประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่ในเดือน มี.ค.นี้

“การส่งออกที่เห็นชะลอในท้ายปีที่แล้วชะลอลงเร็วกว่าที่เราคาด มันสะท้อนการค้าโลกที่ชะลอมากกว่าคาด ซึ่งถ้าเป็นไปต่อเนื่องก็อาจจะทำให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ไม่ดีนัก โดยครึ่งปีแรกถ้าพูดถึงฐานที่สูงก็มีโอกาสที่ส่งออกจะหดตัว เพราะราคาน้ำมันที่ลงแรงด้วย แต่ทั้งปีส่งออกไม่น่าหดตัว” นายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวว่า ค่าเงินบาท ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2561 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ในเดือน ม.ค. 2562 ที่แข็งค่ามากขึ้นพอสมควรเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น รวมถึงความผันผวนเริ่มปรับขึ้น แต่เทียบกับอดีตยังถือว่าอยู่ระดับกลาง ๆ โดยยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำไปเป็นเครื่องชี้หนึ่งประกอบการตัดสินใจในการประชุมรอบวันที่ 6 ก.พ.นี้

กรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับท่าทีเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ครึ่งแรกปีนี้เฟดอาจจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย หากเป็นเช่นนั้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็อาจจะได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาลงทุนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) ที่รวมถึงไทย

สำหรับปัจจัยการเลือกตั้งของไทยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2562 นั้น หากเป็นนักลงทุนต่างประเทศมองว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ดีของประเทศไทย ส่วนนักธุรกิจในประเทศคงรอดูโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ที่จะมาบริหารประเทศ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่อย่าง EEC น่าจะไปได้ต่อเนื่อง ไม่น่าจะขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าใครมาก็คงต้องสานต่อ

โจทย์ “บาทแข็ง” อยู่ทั้งปี

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าสุดในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้นมา 2.9% จากสิ้นปี 2561 รองลงมาค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย 2.5% ค่าเงินหยวนของจีน 2% และเงินริงกิตมาเลเซีย 0.73% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากเฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น และครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น เนื่องจากไทยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง โดยให้กรอบค่าเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ 31.00-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกนี้คาดว่าค่าเงินบาท อยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไม่คิดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะต่ำกว่า 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากคาดว่าสหรัฐจะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานภาคนอกเกษตรเดือน ม.ค.นี้ออกมาดี จึงมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐไม่ได้แย่มาก

นอกจากนี้ปัจจัยการเลือกตั้งในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงหลายหน่วยงานมีความคาดหวังจากผลการเลือกตั้งในเชิงบวก หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น มีการเร่งรัดเบิกจ่ายการลงทุน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าสิ้นปีค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี-31 ม.ค. 2562 ปรับตัวแข็งค่าขึ้น 4.2%

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!