TK ลุยไมโครไฟแนนซ์เมียนมา ส.ค.นี้ ยอมรับผลงานปีนี้ทรงตัว หลังศก.ชะลอกดดันยอดขายรถ-กำลังซื้อหด

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดในประเทศช่วงไตรมาส 1/62 มียอดขายรวม 462,205 คัน ลดลง 0.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาสแรกของบริษัท มีรายได้เติบโต 2.3% จาก 957 ล้านบาท มาเป็น 979 ล้านบาท กำไรที่ 112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% โดยยอดลูกหนี้เช่าซื้อรวมของบริษัทอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อเทียบยอดขายรถจักรยานยนต์ของประเทศที่หดตัว 0.6% เนื่องจากทางบริษัทเร่งตัดหนี้สูญตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว โดยบริษัทจะประเมินเป้าหมายการขยายตัวในประเทศอีกครั้งหลังมีการจัดตั้งรัฐบาล

โดยคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้น่าจะทรงตัวจากปีก่อนที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 3,878 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 407 ล้านบาท จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และปัญหาภัยแล้ง ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของภาคเกษตรกร ประกอบกับยอดขายรถจักรยานยนต์ที่คาดว่าจะหดตัว ซึ่งจาก 4 เดือนหดตัวแล้ว 0.69% ขณะที่ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้คาดยอดขายจะอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน หดตัว 3-4%

ทั้งนี้บริษัทเตรียมปรับเป้ายอดสินเชื่อในประเทศปีนี้ หลังจากปัจจัยลบมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาภัยแล้ง ยอดขายรถจักรยานยนต์ แม้ว่าจะตั้งเป้าสินเชื่อต่างประเทศปีนี้เติบโต 100% แต่สิ้นปีนี้ยอดสินเชื่อคงค้างอาจไม่ถึง 10,000 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาส 1/62 ยอดสินเชื่อรวมคงค้างอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้ยอดการปฎิเสธสินเชื่อสูงถึง 30% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 20% โดยหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้คาดว่าจะควบคุมไม่ให้เกิน 5% จากไตรมาส 1/62 ที่อยู่ที่ 4.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/61 ที่อยู่ 4.1%
อย่างไรก็ดีสำหรับธุรกิจในต่างประเทศ ภายในเดือน ส.ค.นี้ บริษัทจะเริ่มเปิดสาขาแรกในเมียนมาเพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศหลังจากได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครไฟแนนซ์ในสหภาพเมียนมาในนามบริษัท Mingalaba Thitikorn Microfinance จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ๊าด หรือ 33 ล้านบาท โดย TK ถือหุ้นสัดส่วน 99.9% ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการบริการไมโครไฟแนนซ์จำนวน 3 สาขา ในมณฑลพะโค (Bago) หรือที่คนไทยรู้จักในนามหงสาวดี เพื่อให้บริการทางการเงินกับลูกค้าในเมียนมา

“เมียนมาถือเป็นประเทศที่ 3 ที่ได้ขยายธุรกิจออกจากประเทศไทยไปต่างประเทศ ซึ่งประเทศแรกที่ขยายออกไป คือ กัมพูชา ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 6 สาขา และจะเปิดเพิ่มอีก 6 สาขาภายในปีนี้ ประเทศที่สองคือ สปป. ลาว โดยเปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา ที่เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และสะหวันนะเขต และปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขาที่ปากเซ เชียงขวาง และอุดมชัย โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีสาขาในต่างประเทศรวมกันแล้ว 21 สาขา” นายประพลกล่าว