แบงก์ชาติหวังมาตรการ LTV ออกฤทธิ์สกัดดีมานต์เทียม-ราคาบ้านหลังแรกไม่แพงเว่อร์

แบงก์ชาติหวังมาตรการ LTV ออกฤทธิ์สกัดดีมานต์เทียม-ราคาบ้านหลังแรกไม่แพงเว่อร์ ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยเดือน เม.ย.62 สินเชื่อบ้านเริ่มชะลอลง ขณะที่สินเชื่อสุทธิยังเพิ่มจากเดือนก่อนหน้า แรงหนุนจากการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจ-บัตรเครดิต-สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ คาดทั้งปีสินเชื่อภาพรวมยังโตได้ใกล้ 5% ตามคาดไว้เดิม

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่ ธปท.ออกเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) นั้น เพื่อให้ผู้บริโภคและประชาชนเข้าถึงเงินกู้สินเชื่อบ้านได้อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคาบ้านไม่สะท้อนกับราคาที่ควรจะเป็น ธปท.จึงออกมาตรการดังกล่าว เพื่อให้อุปสงค์และอุปทานมาอยู่ในระดับที่สมดุลกัน

“สิ่งที่ ธปท.ระวังมาก คือคนที่จะซื้อบ้านหลังแรก เพราะเราเห็นว่าคนกลุ่มนี้ คือคนที่มีความจำเป็น และเป็นปัจจัยเสี่ยงกับเขาจริง ๆ เพราะฉะนั้นมาตรการนี้หวังว่า ธปท.ออกแล้วจะสกัดราคาที่อาจจะมีดีมานด์ (ความต้องการซื้อ) เทียม ราคาที่สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้ราคาบ้านอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น” นายรณดลกล่าว

สำหรับเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังมาตรการมีผลบังคับใช้ นายรณดล กล่าวว่า ยังต้องรอดูตัวเลขสินเชื่อบ้านหลังแรก หลังที่ 2 หรือหลังที่ 3 อีกสัก 1-2 เดือนก่อน ว่ามีการชะลอหรือไม่ เพราะเพิ่งออกมาตรการไป

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยพบว่า สินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน เม.ย. แม้เป็นเดือนแรกที่มาตรการ LTV ของ ธปท. เริ่มมีผลบังคับใช้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยสินเชื่อสุทธิยังคงขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อีก 2.67 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิพลิกเป็นบวกเล็กน้อย 0.12% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561

ทั้งนี้ สถานการณ์สินเชื่อในเดือนเม.ย. 2562 กลับมาได้รับแรงหนุนเพิ่มขึ้นจากสัญญาณการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน ประกอบกับสินเชื่อรายย่อยบางประเภท มีแรงหนุนจากปัจจัยเชิงฤดูกาล เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ยังคงขยับขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแรงหนุนจากงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ดี สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีสัญญาณชะลอลงในเดือนเม.ย. 2562 หลังจากที่ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 5.4 หมื่นล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อไตรมาส ในช่วงไตรมาสที่ 4/2561-ไตรมาสที่ 1/2562 ที่ผ่านมา ตามการเร่งตัวของกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนมาตรการ LTV ของธปท. จะเริ่มบังคับใช้”

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ภาพรวมสินเชื่อสุทธิ ชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.58% YoY ในเดือนเม.ย. 2562 จาก 4.98% ในเดือนมี.ค. 2562


สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปีนี้ ยังมีโอกาสขยายตัวใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ที่ 5.0% แต่จะติดตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแรงส่งการฟื้นตัวของภาพรวมสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมและกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการปรับตัวของตลาดสินเชื่อรายย่อย หลัง ธปท. ยังส่งสัญญาณว่า อาจต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย (ทั้งดอกเบี้ย มาตรการ Microprudential และมาตรการ Macroprudential) เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะรายละเอียดของเกณฑ์ที่เตรียมจะออกมาเพื่อช่วยดูแลความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น