งบปี’63เลื่อนยาวฉุดศก.Q4 เบิกจ่ายวูบ-เอกชนยื้อลงทุน

งบฯปี’63 ส่อเลื่อนยาวกว่า 3 เดือน เริ่มบังคับใช้ได้ ม.ค.ปีหน้า ฉุดเศรษฐกิจ Q4 ปีนี้วูบ เหตุเบิกจ่ายเงินลงระบบได้แค่ 50% โครงการลงทุนใหม่ภาครัฐถูกยื้อ จับตารัฐบาลใหม่รื้อ พ.ร.บ.งบประมาณ สานนโยบายหาเสียงฟาก “ทีเอ็มบี” คาดฉุดจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 3% หวั่นตั้งรัฐบาลช้ากระทบการลงทุนเอกชน

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าส่งผลให้การประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 น่าจะล่าช้าไปราว 3-4 เดือน กรณีล่าช้าที่สุด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 น่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2563 ที่น่าห่วงคือรัฐบาลชุดใหม่ที่มีรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล จะขอทบทวนการจัดสรรงบประมาณในแต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ภายในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. หลังมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ สำนักงบประมาณจะเสนอหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไปพลางก่อน

ขาดดุลได้เพิ่มอีก 1 แสนล้าน

เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

“เดิมจะต้องเสนอกรอบวงเงินเข้า ครม.ตั้งแต่เดือน เม.ย. แต่ถึงตอนนี้กว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ก็น่าจะในเดือน มิ.ย. และ ครม.ชุดใหม่ต้องแถลงนโยบายต่อสภา จากนั้นจะนำนโยบายที่แถลงมาจัดทำนโยบายในระยะข้างหน้า ขณะที่คำของบประมาณปี 2563 ส่งเข้ามาตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้ว แต่สำนักงบฯจะเปิดให้รัฐบาลใหม่ขอเพิ่มเข้ามาได้”

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า งบฯปี 2563 มีกรอบวงเงินรายจ่ายที่ ครม.เห็นชอบไปแล้ว 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลใหม่ทบทวนแล้ว หากมีความจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินขาดดุลก็สามารถเพิ่มได้ ยังมีกรอบวงเงินขาดดุลเพิ่มเติมได้อีก 1 แสนล้านบาท แต่หากสามารถทำตามกรอบเดิมได้ก็จะดี

เบิกจ่ายงบฯวูบ ศก.Q4 น่าห่วง

“คาดว่างบฯปี”63 จะเบิกจ่ายได้ในต้นไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ หรือต้นไตรมาสแรกปีปฏิทิน 2563 อาจมีผลกับเศรษฐกิจปีหน้า ส่วนปีนี้ (2562) พอรัฐบาลมาช้า ไตรมาสสุดท้ายจะเหนื่อยหน่อย เพราะเงินจะลงในระบบได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย น่าจะได้แค่ราวครึ่งหนึ่ง”

แต่ช่วงที่งบฯปี”63 ยังไม่บังคับใช้ การเบิกจ่ายงบประมาณจะไม่สะดุด เนื่องจากสำนักงบฯจะจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไปพลางก่อน โดยงบฯประจำ และงบฯลงทุนโครงการต่อเนื่องสามารถเบิกจ่ายได้ แต่จะไม่มีงบฯโครงการลงทุนใหม่

รื้องบฯรัฐสวัสดิการ 2 ล้าน ล.

“ในเดือน ส.ค.-ก.ย. สำนักงบฯจะเสนอการใช้งบฯไปพลางก่อนให้ ครม.เห็นชอบ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนมาก การพิจารณางบฯปี”63 จะจบเดือน ต.ค.-พ.ย. เข้าวาระ 1 ได้ ก็จะเสนอใช้งบฯไปพลางแค่ 1 เดือน แต่ถ้าเปลี่ยนแปลง รัฐมนตรีใหม่เข้ามาแล้วมีการทบทวนมาก คงต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ จากนั้นสำนักงบฯต้องนำมาพิจารณาทำรายละเอียดงบฯปี”63 ใหม่ 2-3 สัปดาห์ น่าจะเสร็จเดือน พ.ย. และเข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว.อีก 20 วัน หากเป็นแนวทางนี้ ต้องเสนอใช้งบฯไปพลางก่อน 3 เดือน”

ทั้งนี้ กรณีมีการรื้องบฯใหม่ งบฯ 1 ใน 3 จะเป็นพวกงบฯจ่ายเงินเดือน เงินที่ต้องจ่ายตามสัญญา ซึ่งรื้อไม่ได้ แต่จะมีส่วนที่เป็นไปตามนโยบายที่ทำกันต่อเนื่อง เช่น เรียนฟรี รักษาฟรี บัตรสวัสดิการ ค่าเลี้ยงดูเด็กเล็ก ดูแลนักเรียนรายหัว เป็นต้น หากรัฐบาลใหม่ไม่เอาเลย จะมีเงินเหลือ 2 ล้านล้านบาท แต่คิดว่าไม่มีใครรื้อ

ปี”62 เบิกงบฯลงทุนใกล้เข้าเป้า

ขณะที่งบฯรายจ่ายลงทุนที่กรอบเดิมตั้งไว้ 6.91 แสนล้านบาทนั้น สัดส่วนราว 20% ของงบฯรายจ่ายรวม เป็นไปตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ ที่กำหนดว่าต้องตั้งงบฯลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% รัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องยึดตามกรอบนี้

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาทนั้นไม่น่ามีปัญหา เพราะภาพรวมสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมาย จะมีในส่วนงบฯลงทุนที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยราว 0.13%

แจงงบฯปี”63 ล่าช้า 3 เดือน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 28 พ.ค.ว่า ครม.ใหม่ยังไม่มี สภายังไม่มา ทำให้ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องล่าช้าออกไป 3 เดือน จากเดิมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 62 ต้องเลื่อนออกไปเป็น 1 ม.ค. 63 สำนักงบประมาณจึงมีความเห็นว่า ในส่วนของงบฯรายจ่ายประจำให้เบิกจ่ายจากงบประมาณปี”62 ไปก่อนได้ แต่ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของงบฯรายจ่ายประจำปี”62 ขณะที่รายจ่ายลงทุนให้เบิกจ่ายจากงบฯเหลื่อมปี”62 ไปพลางก่อน

ขณะที่นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงว่า ระหว่างรองบประมาณใหม่ ให้ยึดกรอบงบประมาณรายจ่ายปี”62 ไปก่อน ซึ่งงบฯส่วนใหญ่เป็นงบนรายจ่ายประจำกว่า 80% ที่เหลือจะเป็นงบฯตามโครงการรัฐบาล เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงไม่มีผลกระทบ

TMB ชี้ฉุด ศก.ไทยโตไม่ถึง 3%

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าวว่า หากงบฯปี”63 ล่าช้าถึง 1 ไตรมาส จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ไม่ถึง 3% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัว รอความชัดเจนโครงการร่วมลงทุนกับภาครัฐ (PPP) หรือการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนถึง 20% ในจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) และถือเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ขณะที่การลงทุนภาครัฐสัดส่วนเพียง 5%

“การลงทุนภาครัฐชะลอตัวมาสักพักแล้ว ซึ่ง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา พลาดเป้าตลอด ปีนี้ทาง TMB มองโตแค่ 2.5% ไม่ถึง 3% แต่ถ้าความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลทำให้เมกะโปรเจ็กต์ช้า จะดึงการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ซึ่งตัวนี้เป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจไทย และแทบเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ เพราะเครื่องยนต์อื่นดับเกือบหมด อาจมีท่องเที่ยวที่ยังดูดี แต่ไม่ได้ดีกว่า 1-2 ปีที่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวจีนชะลอไปมาก”

CRภาพ:มติชนออนไลน์

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!