AgriTech…จุดเปลี่ยนเกษตรไทย

ภาพ pixabay

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย


เพราะความท้าทายและข้อจำกัดมากมายฉุดรั้งให้ภาคการเกษตรไทยยังก้าวไปข้างหน้าได้ไม่เร็วพอ ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อสร้างแต้มต่อให้สินค้าเกษตรสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

จากปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงราคาขาย กลายเป็นตัวผลักดันให้ไทยต้องนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยการเพาะปลูกมากขึ้น ที่เรียกว่า เกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน ด้วยหลักการทำเกษตรแบบแม่นยำ (precision farming) ที่จะทำให้การปลูกพืชมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ได้

โดยหัวใจสำคัญ คือ internet of things (IOTs) ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์ทางการเกษตรกับอุปกรณ์ควบคุมหลักอย่างเซ็นเซอร์ เช่น เซ็นเซอร์วัดดิน ตรวจโรคพืช ตรวจวัดผลผลิต และข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ซึ่งเป็นการคาดการณ์ข้อมูลด้านการเกษตรด้วยฐานข้อมูล อันจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ โดยเครื่องมืออะกริเทคสามารถแบ่งตามขนาดพื้นที่ตามการใช้งานของเกษตรกร 2 กลุ่ม คือ

1.พื้นที่ขนาดใหญ่ สามารถใช้เกษตรอัจฉริยะ (smart farming) และ drone เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งปัจจุบัน สมาร์ทฟาร์มมิ่งของไทยยังอยู่ในขั้นพื้นฐาน และยังเป็นแบบระบบอัตโนมัติ เช่น รถแทรกเตอร์ติด GPS หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวอัตโนมัติ เป็นต้น ดังนั้น ต้องเน้นไปที่สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ เช่น ข้าว ผลไม้ แต่จากแนวโน้มราคาเทคโนโลยีที่ถูกลง และความรู้ของผู้ประกอบการที่มากขึ้น คาดว่าอีก 5 ปีไทยจะสามารถยกระดับไปสู่ smart farming แบบเต็มพิกัด ที่ใช้ big data/AI ตัดสินใจร่วมด้วยในการวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูล ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติที่ถูกควบคุมด้วยการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่เก็บอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ สำหรับโดรนเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ โดยเฉพาะนาข้าว เพื่อประหยัดแรงงานคนและเวลา ลดความเสี่ยงของเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี สามารถควบคุมการผลิตได้จากมุมสูง โดรน 1 ลำสามารถทำงานได้มากกว่าใช้แรงงานคนกว่า 10 เท่าต่อวัน

2.พื้นที่ขนาดเล็ก จะเป็นการใช้โรงงานผลิตพืช (plant factory) เพื่อเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งทำในโรงเรือนระบบปิดที่สามารถควบคุมการปลูกพืชได้เต็มรูปแบบ ด้วยการใช้หลอดไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสงในการกระตุ้นสารสำคัญ ซึ่งต้องเน้นไปที่พืชสมุนไพรหรือพืชที่นำมาสกัดได้สารตั้งต้น เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (high-end product) เช่น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น โดยคาดว่าอีก 3 ปีน่าจะเห็นภาพที่ไทยนำโรงงานผลิตพืชเข้ามาใช้ในภาคเกษตรเชิงพาณิชย์ แต่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ และอีก 5 ปีต่อไป ผู้ประกอบการรายเล็กน่าจะสามารถทยอยเข้าสู่ธุรกิจได้มากขึ้น และอีก 7 ปี น่าจะเห็นภาพที่ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าสู่ธุรกิจได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ตามแนวโน้มราคาเทคโนโลยีที่ถูกลง และผู้ประกอบการที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

จะเห็นว่า AgriTech คือ จุดเปลี่ยนที่จะตอบโจทย์ให้เกษตรกรไทยได้ไม่น้อย ผู้ประกอบการ SMEs ควรศึกษาเอาไว้ ในอนาคตเทรนด์นี้มาแน่ เพราะไม่เพียงแค่การควบคุมการผลิต หรือควบคุมคุณภาพของผลผลิตเท่านั้น ผู้ประกอบการยังสามารถนำไปต่อยอดกับช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ แสดงให้เห็นผลผลิตภายในฟาร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสั่งซื้อได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการเตรียมพร้อมเอาไว้เนิ่น ๆ เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมก็จะลงมือทำได้ทันที

การแข่งขันยุคนี้ ใครพร้อมก็ได้เปรียบ