Structured Note ผลตอบแทนที่มาพร้อมความผันผวน

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย อรรถเดช เทพชัยธนะวงศ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้นักลงทุนแสวงหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ มาช่วยเพิ่มพูนผลตอบแทนผลิตภัณฑ์หนึ่งซึ่งเป็นที่จับตามอง คือ หุ้นกู้อนุพันธ์ (structured note) เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและตราสารหนี้ทั่วไป structured note มีกลไกอย่างไร ทำไมจึงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า รวมถึงมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน มาพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนกันครับ

หุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ structured note เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รวมคุณสมบัติของหุ้นกู้และตราสารอนุพันธ์เข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ เป็นหุ้นกู้ประเภทหนึ่งที่จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรที่กำหนด เช่น ราคาหุ้นรวมถึงดัชนีหุ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ รวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือองค์กร เป็นต้น ตัวอย่างของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้น เช่น หากภายในสิ้นปี SET index เพิ่มขึ้นถึงระดับ 1,800 จุด นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 5% แต่หาก SET index ขึ้นไปเพียง 1,700 จุด ณ สิ้นปี นักลงทุนจะได้รับคืนเฉพาะเงินต้นเท่านั้น หรืออาจได้รับคืนเพียงบางส่วนก็ได้ขึ้นกับเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนดไว้ ซึ่งแปลว่านักลงทุนมีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนถ้าหากดัชนี SET50 ไม่ปรับสูงขึ้นเท่าที่คาด

หุ้นกู้อนุพันธ์บางรุ่นมีการอ้างอิงกับสินทรัพย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับหน่วยลงทุนในต่างประเทศ ผลตอบแทนที่ได้ นอกจากอ้างอิงกับมูลค่าหน่วยลงทุนแล้ว ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็ส่งผลเช่นเดียวกัน เช่น ถ้ามูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 13.50 ยูโร ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.00, 36.00 และ 38.00 ยูโรต่อบาท นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 4.15%, 5.30% และ 6.50% ตามลำดับ ซึ่งแปลว่ามูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นจนถึงที่กำหนดแล้วแต่ยังมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน กรณีที่ structured note ไม่ประกันเงินต้นนักลงทุนก็มีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้

ทั้งนี้ structured note ในตลาดมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับผู้ออกที่ส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ว่าจะอ้างอิงกับสินทรัพย์ประเภทใด รวมถึงกำหนดเงื่อนไขพิเศษอะไร ซึ่งอาจเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความเข้าใจและมุมมองเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่นำมาอ้างอิง และต้องการโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากและตราสารหนี้ทั่วไป ในขณะที่ยังคงต้องการจำกัดความเสี่ยงด้วยการประกันเงินต้นของการลงทุนไว้ด้วย (ในกรณีที่มีการประกันเงินต้น 100%) แต่ต้องเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนการลงทุน ประเด็นแรกคือ หลักทรัพย์ที่หุ้นกู้อนุพันธ์ไปอ้างอิงเนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่สร้างผลตอบแทนแก่นักลงทุน หลักทรัพย์อ้างอิงบางประเภท เช่น อัตราดอกเบี้ย THBFIX หรือราคาของหน่วยลงทุนในต่างประเทศ ยากแก่ความเข้าใจของนักลงทุนทั่วไป และเข้าถึงข้อมูลได้ยาก หรือโครงสร้างการกำหนดราคามีความซับซ้อน ซึ่งอาจทำให้ยากต่อการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุนและติดตามข้อมูลในอนาคต

ประเด็นรองลงมาคือ สภาพคล่อง เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่สามารถซื้อ-ขายเปลี่ยนมือได้ ดังนั้น เงินที่ใช้ลงทุนควรเป็นเงินลงทุนระยะยาว สามารถถือจนครบกำหนดอายุได้ ประเด็นสุดท้ายคือ การประกันเงินต้น structured note บางรุ่นกำหนดให้มีการประกันเงินต้น 100% แต่บางรุ่นอาจไม่ได้กำหนด หรือประกันเงินต้นเพียงบางส่วน ดังนั้น เมื่อครบกำหนดอายุผู้ลงทุนอาจได้รับเงินต้นคืนไม่เต็มจำนวน ไม่ได้รับคืนเลย หรืออาจได้รับเป็นหุ้นของบริษัทแทนเงินต้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนด

หุ้นกู้อนุพันธ์เป็นการลงทุนที่มีความซับซ้อนและความเสี่ยงที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ก็นับเป็นทางเลือกที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนควรทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะและหลักทรัพย์ที่อ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดให้หุ้นกู้อนุพันธ์เสนอขายได้เฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) เท่านั้น