อธิบดีสรรพากร สั่งทีมศึกษาตั้งรับนโยบายลดภาษีของรัฐบาลชุดใหม่ ชี้ภาวะเศรษฐกิจชะลอไม่เหมาะปรับ VAT

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ตั้งทีมเจ้าหน้าที่ขึ้นมาศึกษานโยบายด้านภาษีที่พรรคการเมืองมีการประกาศไว้ ซึ่งในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนมา กรมก็ต้องทำหน้าที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมา ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และ หากลดภาษีบางอย่างแล้วจะต้องมีการชดเชยอย่างไร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ

นโยบายต่าง ๆของพรรคการเมืองที่อาจจะมาเป็นรัฐบาล เราก็พยายามศึกษาอยู่ เพราะทุกอย่างมีต้นทุน ซึ่งเราก็ต้องนำเสนอว่าประโยชน์คืออะไร ต้นทุนคืออะไร วิเคราะห์ผลกระทบ แต่หน้าที่เราไม่ได้ตัดสินใจ คนที่จะตัดสินใจคือคนที่ประชาชนเลือกมา ส่วนเราก็ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ผมว่าคงไม่มีแต่การลดภาษีอย่างเดียว เพราะลดภาษีก็รายได้หาย ก็จะกระทบเศรษฐกิจประเทศ เสถียรภาพการคลัง ดังนั้นก็ต้องดูว่าจะเอาอะไรมาชดเชย

ซึ่งรวมไปถึงสิ่งที่จะมาชดเชยการลดภาษีนั้น อย่างกรณีหากมีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจจะต้องมีการยกเลิกค่าลดหย่อนบางรายการที่หมดความจำเป็น จากปัจจุบันค่าลดหย่อนทั้งหมดมีอยู่มากกว่า 10 รายการส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั้น นายเอกนิติ กล่าวว่า การปรับขึ้นหรือลง ต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจ โดยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันมีการชะลอตัวอาจจะไม่เหมาะที่จะไปปรับ VAT เนื่องจาก VAT เป็นภาษีที่มีสัดส่วนมากกว่า 40% ของรายได้ภาษีของกรมสรรพากรทั้งหมด อย่างไรก็ดี การตัดสินใจต้องขึ้นกับฝ่ายนโยบาย

ถ้าลด VAT 1% รายได้จะหายไปราว 7 หมื่นล้านบาท หรือปรับขึ้น VAT 1% ก็จะมีผลให้รายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้านบาท แต่ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง อันนี้ผมไม่ได้บอกว่าเสนออะไร โดยการตัดสินใจผมว่าต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจว่าเหมาะสมหรือไม่ และ ดูว่านโยบายรัฐบาลด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากร ทั่วราชอาณาจักร ในวันที่ 10 – 11 มิ.ย.นี้ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นกรมสรรพากรคุณธรรม โดยอธิบดีกรมสรรพากรได้นำผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศประกาศเจตนารมณ์ด้วยอัตลักษณ์ “HAS” ดังนี้ ซื่อสัตย์ (H : Honesty) : การปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์และรักษาประโยชน์ส่วนรวม ไม่เรียกรับผลประโยชน์ใดๆ หรือรับจ้างจากผู้เสียภาษีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับผิดชอบ (A : Accountability) : ความมุ่งมั่น ทุ่มเท กำกับงานที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จ คอยให้คำปรึกษาที่ดีแก่ลูกน้อง และไม่ปัดความรับผิดชอบ มอบใจบริการ (S : Service mind) : การให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มาติดต่อ รับบริการจากกรมสรรพากร

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรยังได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ D2RIVE (Digital Transformation, Data Analytics, Revenue Collection, Innovation, Value และ Efficiency) เพื่อนำระบบดิจิทัล ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data และนวัตกรรมใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร อย่างเข้มข้น โดยในช่วงที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ D2RIVE ที่สำคัญ อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีกับหน่วยงานต่างๆ เช่น เบี้ยประกันสุขภาพ เงินสะสม กบข. และหน่วยรับบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ e-donation เพื่อให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วยตัวเองผ่านระบบ My Tax Account การพัฒนา Application RD Smart Tax และเปิดระบบ Open API เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา Application ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ยังได้นำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาพัฒนาเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงของผู้เสียภาษี (Risk Based Audit) เป็นต้น

นายเอกนิติ กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินการดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการยกระดับการให้บริการประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – พฤษภาคม 2562) กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีสรรพากรได้จำนวน 1.22 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณถึง 38,015 ล้านบาท
ในระยะต่อไป กรมสรรพากรมีโครงการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ D2RIVE ที่สำคัญ เช่น การเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดทำระบบการเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาระบบการออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-tax invoice/e- receipt) การนำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาตรวจจับพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีอากร (tax fraud) และเครือข่ายใบกำกับภาษีปลอม และการจัดตั้ง Tax Innovation Lab เพื่อศึกษาการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการให้บริการผู้เสียภาษี


อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวอีกด้วยว่า ในการจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วราชอาณาจักร ในวันนี้ นอกจากจะมีการมอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมสรรพากรแล้ว กรมสรรพากรยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ นายแพทย์เกศดา จันทร์สว่าง อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี มาถ่ายทอดประสบการณ์การขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และ ดร. ธนชาตย์ ฤทธิ์บำรุง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Analytics มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำ Digital Transformation และ Data Analytics & AI กับกรมสรรพากร รวมทั้งนายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง Smart Office Smart People เพื่อจุดประกายความคิดให้กับบุคลากรของสรรพากรให้สามารถดำเนินการยกระดับประสิทธิภาพ การจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและการบริการประชาชนที่ทันสมัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นกรมสรรพากรดิจิทัลอย่างแท้จริง