ก.ล.ต.ร่วมทุนตลาดหลักทรัพย์ฯ–IAA ออกบทวิเคราะห์ ตั้งเป้าครอบคลุมบจ.ขนาดกลาง 100 แห่งภายใน 3 ปี

ก.ล.ต. ร่วมทุนตลาดหลักทรัพย์ฯ ดึงสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดทำโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน หวังขยายบทวิเคราะห์คุณภาพครอบคลุมบจ.ขนาดกลางมาร์เก็ตแคปไม่เกิน 3 พันลบ. ตั้งเป้าผลิต 100 บทวิเคราะห์ใน 3 ปี เริ่มเผยแพร่ไตรมาส 4 ปีนี้ นักลงทุนอ่านฟรี

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการทำให้ตลาดทุนมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับผู้ลงทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จัดทำโดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้ อย่างไรก็ดี จำนวนบทวิเคราะห์ในปัจจุบันมักกระจุกตัวในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ดังนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 จึงได้มีมติอนุมัติการสนับสนุนโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีเป้าหมายเพิ่มบทวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม

ทั้งสองหน่วยงานจึงร่วมทุน 24 ล้านบาท มอบหมายให้สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ  โดยมีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้รับความสนใจในการจัดทำบทวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ยังไม่เคยได้รับการจัดทำบทวิเคราะห์มาก่อน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ตลาดทุนมีข้อมูลที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หน้าใหม่และส่งเสริมอุตสาหกรรมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้พัฒนายิ่งขึ้นไปอีก เพื่อการเติบโตของตลาดทุนที่ยั่งยืน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลความรู้การลงทุน ขยายฐานผู้ลงทุนคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ด้วยการจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ในปัจจุบันยังอาจกระจุกตัวและไม่ครอบคลุมหลักทรัพย์คุณภาพที่มีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้หารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และ ก.ล.ต. เพื่อพัฒนาโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน ภายใต้ 3 เป้าหมาย คือ ครอบคลุม ขยายให้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่น่าสนใจแต่ยังไม่มีบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุม อาทิ หุ้นในดัชนีหุ้นยั่งยืน (SETTHSI) หุ้นในธุรกิจ Well-being หุ้นในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี คุณภาพ ส่งเสริมบทวิเคราะห์คุณภาพได้มาตรฐานของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน และ เข้าถึง เผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่าน media platform ต่าง ๆ ทั้งช่องทางของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์และพันธมิตร รวมทั้งยังมีแผนจัดทำแหล่งรวมศูนย์บทวิเคราะห์และข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ดังกล่าว และจัดสัมมนาเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสรับฟังข้อมูล และเข้าถึงข้อมูลจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น โดยในการดำเนินโครงการและการให้ความรู้นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะร่วมมือกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และบริษัทหลักทรัพย์ที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรครั้งนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่ร่วมพัฒนาคุณภาพตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า หุ้นที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาจัดทำบทวิเคราะห์จะต้องเป็นหุ้นที่ไม่อยู่ใน SET100 และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) มากกว่า 3,000 ล้านบาท และไม่มีสำนักวิจัยเขียนวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน หรือมีเพียงรายเดียว และมีธีม (theme) ที่น่าสนใจ สำหรับในกระบวนการจัดการโครงการนี้ สมาคมนักวิเคราะห์ฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ และจะมีการคัดเลือกทีมวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพพร้อมเข้ามารับช่วงการผลิตบทวิเคราะห์ตามแนวทางที่สมาคมฯ กำหนด จากนั้นสมาคมฯ จะเป็นผู้ตรวจทานควบคุมคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนนำส่งเข้าสู่ IAA Consensus เพื่อให้ผู้สนใจเข้าใช้ประโยชน์กันต่อไป

“ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเรามีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประมาณ 500 บริษัท ต่อนักวิเคราะห์ที่ลงทะเบียนเป็นนักวิเคราะห์พื้นฐานประมาณ 340 ราย ปัจจุบันมีบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นรวม 780 แห่ง อีกทั้งยังมีหลักทรัพย์อื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน รีท วอแรนท์ TFEX ฯลฯ รวมกว่า 2,600 หลักทรัพย์ ในขณะที่นักวิเคราะห์พื้นฐานลดลงจาก 340 ราย เหลือ 280 ราย ดังนั้น จึงมีปัญหาว่านักวิเคราะห์ฯ ไม่สามารถจัดทำบทวิเคราะห์ครอบคลุมหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางที่ไม่มีบทวิเคราะห์ครอบคลุม เมื่อเมื่อนักลงทุนรายย่อยที่อาจดูแลตัวเองไม่ได้เท่านักลงทุนสถาบัน ซื้อขายด้วยราคาที่ไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ นั้นจริงๆ” นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ คุณสมบัติของทีมวิจัยจาก บล. ผู้ร่วมโครงการ ต้องมีทีมงานนักวิเคราะห์ที่มีใบอนุญาต และปฏิบัติหน้าที่ด้านวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 4 คน เพื่อให้มีความยั่งยืนที่จะดำเนินการรับช่วงผลิต รวมทั้งต้องมีกระบวนการตรวจทานควบคุมคุณภาพภายในทีมวิจัยก่อนส่งออกบทวิเคราะห์ และเป็นสมาชิกของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เพื่อให้สามารถมีโอกาสเข้าร่วมการติดตามพัฒนาความรู้และแนวทางการปฏิบัติงานที่ทันสถานการณ์


โครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนจะดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี โดยผลิต 100 บทวิเคราะห์ แบ่งเป็น 40 บทวิเคราะห์ในปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีที่ 2-3 เป็น 70 และ 100 บทวิเคราะห์ตามลำดับ นอกจากนี้ จะมีการเขียนบทวิเคราะห์รายงานความคืบหน้า ในทุกไตรมาส และจะเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. IAA สำนักวิจัย และ บล. ผู้ผลิตบทวิจัยต่อไป โดยคาดว่าเริ่มเผยแพร่ในไตรมาส 4 ปี 2562