ก.ล.ต.เตือนหุ้น EARTH “ปกปิด”ข้อมูลสำคัญ แจ้งมูลค่าเหมืองอินโดฯเกินจริงกว่า2หมื่นล้าน

ก.ล.ต.เตือนนักลงทุน แจงกรณีหุ้น EARTH เข้าข่ายปกปิดข้อมูลสำคัญ–แสดงข้อมูลให้สำคัญผิด หลังตรวจสอบมูลค่าเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย2แห่งที่ EARTH รายงานสูงถึง 2.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ “อีวาย”ผู้ทำแผนฟื้นฟูประเมินมูลค่ายุติธรรมอยู่แค่ 1,500ล้านบาทเท่านั้น ทั้งพบว่าแสดงปริมาณถ่านหินเกินกว่าที่จะสามารถขุดได้จริง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ ก.ล.ต.ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 58 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ สั่งให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ชี้แจงและเปิดเผย (1) ความมีอยู่จริงและสิทธิตามกฎหมายในเหมืองถ่านหิน และ (2) รายงานผลการทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย 2 แห่งที่บริษัทได้มาจากการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัท มูลค่า 24,000 ล้านบาท แต่ EARTH ไม่ดำเนินการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เรียกให้ชี้แจงมาแล้วหลายครั้ง

โดยEARTH ได้ว่าจ้างผู้ประเมินอินโดนีเซียอีก 2 ราย และระบุว่ามูลค่าที่เหมาะสมของเหมืองทั้ง 2 แห่ง ที่ประมาณ 25,100 ล้านบาท และประมาณ 29,000 ล้านบาท

แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ทำแผนฟื้นฟูของ EARTH ในขณะสั่งการนั้น (บริษัท อีวาย คอร์ปปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY)) ได้จัดทำและส่งรายงานตามคำสั่งข้างต้นให้ EARTH แล้ว โดยรายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งว่า (1) สิทธิในเหมืองที่ EARTH ให้บุคคลชาวอินโดนีเซียถือหุ้นแทนนั้น

ที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่า ข้อตกลงตัวแทนการถือหุ้นเป็น”โมฆะ” เนื่องจากต้องห้ามตามกฎหมายของอินโดนีเซีย และ (2) มูลค่ายุติธรรมของเหมืองทั้ง 2 แห่งตามรายงานประเมินอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นเหมือง (green field) อยู่ในป่า มีข้อจำกัดในเรื่องการขนส่ง ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

รายงานดังกล่าวยังได้รวมการประเมินมูลค่าเหมืองอีกแห่งหนึ่ง ซึ่ง EARTH ได้มาในปี 2558 ในราคา 3,690 ล้านบาท และผู้ประเมินได้นำปัจจัยเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนมาพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงได้ให้มูลค่ายุติธรรมเป็นศูนย์ด้วย

นอกจากนี้รายงานประเมิน 2 ฉบับที่ EARTH นำมาเปิดเผยมูลค่ายุติธรรม แทนรายงานที่ EY ว่าจ้างนั้น แสดงถึงการนำถ่านหินในปริมาณเกินกว่าที่ประมาณการว่าจะสามารถขุดได้ในอายุสัมปทาน มารวมเป็นมูลค่าสิทธิในเหมืองของ EARTH ด้วย นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสงสัยในเรื่องความสมเหตุสมผลในการประเมินมูลค่าบน

สมมติฐานว่า เหมืองทั้ง 2 แห่ง จะเริ่มดำเนินงานได้ในปีนี้ ถึงปีหน้า โดยมีเงินลงทุนที่ต้องการแตกต่างอย่างมากจากรายงานประเมินที่ EY ว่าจ้าง ทั้งที่รายงานประเมินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ได้แสดงสภาพพื้นที่ไว้ว่ายังเป็นป่า มีข้อจำกัดในเรื่องการขนส่งเช่นกัน

สำนักงานก.ล.ต.ระบุว่า การกระทำข้างต้น อาจเข้าข่ายเป็นการปกปิดข้อมูลสำคัญหรือแสดงข้อมูลที่ทำให้สำคัญผิด ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ และขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างให้ EARTH และกรรมการบริษัทชี้แจง รวมทั้งให้ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยข้างต้น เพื่อนำมาพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และเพื่อรักษาประโยชน์และคุ้มครองผู้ลงทุนให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อขายหุ้น EARTH ที่ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ซื้อขายเป็นการชั่วคราวในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

สำนักงานจึงจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลข้างต้น และขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวัง และหากต้องการทราบข้อมูลรายงานประเมินทั้ง 3 ฉบับ สามารถใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นขอตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวจาก EARTH ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีของบริษัท EARTH ซึ่งได้กลายเป็นหนี้เสียก้อนใหญ่ของแบงก์เมื่อปี2561 ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทยที่มีมูลหนี้มากที่สุด 1.2 หมื่นล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 3,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1,200 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มูลหนี้ 350 ล้านบาท ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าเป็นกระบวนการที่บิดเบือนข้อมูล ทั้งมูลค่าเหมืองถ่านหินที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ที่สูงกว่ามูลค่าความเป็นจริง รวมถึงการปลอมใบส่งสินค้า B/L (bill of lading)

โดยทางแบงก์เจ้าหนี้นำโดยธนาคารกรุงไทยก็ได้ดำเนินคดีส่งเรื่องไปให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตั้งแต่ปลายปี2561 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าของคดี ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศที่จะปลดเครื่องหมาย SP(ห้ามซื้อขาย) ของหุ้น EARTHระหว่างวันที่ 1-31 ก.ค. 2562 เพื่อให้ผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว