วัดใจแบงก์ชาติสกัดเงินร้อน มิ.ย.บอนด์สั้นทะลัก 7 หมื่นล้าน

จับตาแบงก์ชาติงัดมาตรการสกัด “เงินร้อน-บาทแข็ง” เฉพาะมิถุนาฯเดือนเดียวเก็งกำไร “หุ้น-บอนด์” กว่า 1.15 แสนล้าน ตลาดทุนหวั่นรัฐใช้ยาแรงบี้ “ภาษี” ด้านสมาคมตลาดตราสารหนี้ยันไม่จำเป็นต้องคุมเงินไหลเข้า แจงภาพรวมพอร์ตต่างชาติยังเน้นลงทุนบอนด์ระยะยาว

จากสถานการณ์ค่าเงินบาทจากช่วงปลายปีถึงปัจจุบันแข็งค่ากว่า 6% สูงสุดในภูมิภาค ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท โดยยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วและแข็งค่านำเงินสกุลภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขานุการ กนง. กล่าวภายหลังการประชุม กนง.ว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้นในครั้งนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า เงินบาทเคลื่อนไหวเร็ว ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น ในระยะต่อไป ธปท.จะมีการดูแลค่าเงินบาทที่เข้มข้นขึ้น

“เราเห็นเงินเข้ามาลงทุน เข้ามาพักในสินทรัพย์ระยะสั้น เช่น บอนด์ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เป็นต้น ดังนั้น กลไกการดูแลจึงจะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น โดย ธปท.มีเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว แต่ต้องดูว่าจะใช้อย่างไร และคงออกมาในไม่ช้านี้” นายทิตนันทิ์กล่าว

“เงินร้อน” ทะลัก 1.15 แสนล้าน

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทในรอบนี้ เป็นเพราะ “เงินร้อน” ที่เข้ามาเป็นหลัก โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1-26 มิ.ย. พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลด์) ที่ไหลเข้ามาประมาณ 1.15 แสนล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร (บอนด์) 7.7 หมื่นล้านบาท และไหลเข้าตลาดหุ้น 3.8 หมื่นล้านบาท

“จากที่เราติดตามข้อมูลฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามาช่วงนี้ถือว่าเยอะมากไม่ถึงเดือนไหลเข้ามาถึง 1.15 แสนล้านบาท และที่เข้าตลาดบอนด์ส่วนใหญ่ก็เป็นบอนด์ระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน”

จับตา ธปท.งัดเครื่องมือ “ภาษี”

นายนริศ กล่าวว่า มาตรการสกัดเงินร้อน มีด้วยกันหลายมาตรการที่เป็นไปได้ ตั้งแต่การเข้าแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งยังเหลือ room (ช่องว่าง) ให้แทรกแซง ได้ ส่วนเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายคงยังไม่ใช้ตอนนี้ ส่วนมาตรการอื่น ๆ หาก ธปท.จะนำมาใช้คงต้องพิจารณาคือ มาตรการต่าง ๆ ที่เคยทำมาในอดีต อย่างการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น รอบที่แล้วก็ไม่ได้ส่งผลมากนัก ขณะที่ก็เป็นมาตรการที่ไม่มีเอฟเฟ็กต์รุนแรง และ ธปท.สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้า (URR) หรือกันสำรอง 30% ที่เคยใช้เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2549 คิดว่าคงทำไม่ได้แล้ว เพราะทำแล้วโดนด่ามาก เนื่องจากกระทบตลาดหุ้นรุนแรง

“มาตรการระหว่างทางที่เบากว่า เช่น เก็บภาษีบนกำไรของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ โดยเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากดอกเบี้ยและกำไร อาจทั้งบอนด์และหุ้นถ้าแบบนี้ถือว่าถูกจุด เนื่องจากฝรั่งเข้ามากันเยอะก็ทำไปเลยช่วงหนึ่ง แต่อันนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยทำเมื่อประมาณปี 2553 โดยการเก็บภาษีหักที่จ่าย 15% สำหรับพันธบัตรที่ถือโดยต่างชาติ” นายนริศกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ทำได้ เช่น การเก็บภาษีบนเงินต้นของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ หรือการกำหนดปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อผ่านสถาบันการเงินต่างชาติ ซึ่งมาตรการนี้ ธปท.สามารถทำได้เลย

“2 มาตรการที่ดูมีความเป็นไปได้ก็คือ การเก็บภาษีจากกำไรและดอกเบี้ยบอนด์ กับการกำหนดปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ก็คงต้องจับตาดู ถ้ายังแข็งไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ก็ต้องทำ” นายนริศกล่าว

ออกมาตรการหวั่นผลข้างเคียง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คงต้องรอดูว่า ธปท.จะมีมาตรการสกัดเงินร้อนอย่างไร มีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งต้องยอมรับว่าในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้ามามาก เนื่องจากตลาดคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ย กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้อ่อนค่า จึงมีเงินทุนไหลเข้ามาในไทยมาก ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตลาดที่แกว่งตัว จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะแกว่งได้ทั้ง 2 ทาง ทั้งขาขึ้นและขาลง

“ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตลาดที่ผันผวนมาก ดังนั้น การดำเนินนโยบายหรือมาตรการ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ผมว่า ธปท.ก็คงดูจังหวะและสถานการณ์ ผู้ดำเนินมาตรการก็คงต้องเลือกระหว่างผลกระทบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะบางทีมาตรการระยะสั้นแต่ก็มีผลข้างเคียงไปในระยะกลางและระยะยาว จุดนี้ ธปท.คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ๆ” นายเชาว์กล่าว

ฟากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า หากระยะข้างหน้ายังมีเงินทุนไหลเข้ามาต่อเนื่อง อาจกดดันให้ ธปท.ต้องออกมาตรการเพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจเข้ามาเพื่อเก็งกำไรจากสินทรัพย์ไทยในระยะสั้น โดยหนึ่งในมาตรการที่ ธปท.สามารถใช้ได้อย่างรวดเร็ว คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ไทยลดลง

ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่ ธปท.อาจนำมาใช้ เช่น การปรับลดปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรผ่านตลาดพันธบัตรได้ยากขึ้น

ชี้ไม่ต้องคุมเงินเข้าบอนด์

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ธปท.ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมเงินร้อนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังไหลเข้าในพันธบัตรระยะยาวเป็นหลัก โดยพิจารณาจากอายุเฉลี่ยพันธบัตรในพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.5 ปี จากต้นปีที่ระดับ 7.8 ปี สะท้อนว่าไม่ได้เป็นการพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ณ วันที่ 26 มิ.ย. 2562 มีเงินต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรแล้ว 4-5 หมื่นล้านบาท นับจากช่วงต้นปีที่เป็นการขายออก ส่งผลให้มียอดพันธบัตรสุทธิไหลเข้าเป็นบวกที่ 5,000 ล้านบาท


“ภาพรวมฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไม่ใช่เงินระยะสั้น อาจมีช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ไหลเข้าบอนด์ระยะสั้นมากผิดปกติ เชื่อว่าแบงก์ชาติเห็นอยู่แล้ว” นางสาวอริยากล่าว