แผนลงทุนรัฐแสนล้านป่วน เลื่อนเซ็นสัญญาประมูลถึงกลางปี’63

งบฯปี’63 สะดุด ทำแผนลงทุนรัฐป่วน เมกะโปรเจ็กต์-โครงการพันล้านขึ้นค้างเติ่ง คมนาคมมึน รถไฟฟ้าสายสีส้ม-มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ติดเพดานกู้กฎหมายวินัยการเงินการคลังฉบับใหม่ ลุ้นสำนักงบประมาณปลดล็อก หวั่นมาตรการประกัน “ข้าว-ยาง-ปาล์ม” แสนล้านเคว้ง กรมการค้าภายในทำแผนรักษาเสถียรภาพราคารอชง รมต.พาณิชย์ล่วงหน้า

การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และกว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะผ่านสภาประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะล่าช้ากว่าปกติ 4 เดือน จากทุกปีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในวงกว้างทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบทำให้การจัดซื้อจัดจ้าง และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ล่าช้าออกไปแล้ว จะกระทบการป้องกันแก้ไขปัญหาสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดหนุนช่วยเหลือสินค้าเกษตรซึ่งประสบปัญหาราคาตกต่ำต่อเนื่อง

กระทบประมูลงานคมนาคม

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงยื่นคำเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2563 ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ อย่างรถไฟทางคู่ ถนนเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะได้รับจัดสรรเท่าไหร่และโครงการไหนบ้าง ต้องรอรัฐบาลใหม่แถลงนโยบาย และเป็นไปได้สูงที่อาจถูกรื้อใหม่

ผลจากงบประมาณปี 2563 จะบังคับใช้ล่าช้า 3 เดือน จะกระทบการลงทุนโครงการใหม่ทำให้การเปิดประมูลล่าช้า แต่โครงการเก่าที่ผูกพันมาจากปี 2562 ซึ่งในปี 2563 มีงบฯผูกพัน 87,945 ล้านบาท สำนักงบฯแจ้งว่าจะจัดสรรให้ได้ 50%

สีส้ม-มอเตอร์เวย์ติดเพดานหนี้ 

นอกจากนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะขอจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อหนี้ผูกพันระยะยาว ยังติดกรอบเพดาน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฉบับใหม่ ซึ่งในปี 2562 เต็มเพดาน เนื่องจากโครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จองผูกพันงบประมาณไว้เต็มเพดานแล้ว ทำให้ 2 โครงการไม่สามารถเปิดประมูลได้ คือ มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีส้ม เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ต้องรองบประมาณปีถัดไป ทำให้เมกะโปรเจ็กต์ 2 โครงการนี้เปิดประมูลได้ล่าช้าตามไปด้วย

ลากเซ็นสัญญาถนนถึง มิ.ย. 63

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงเปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า กรมมีงบฯลงทุนโครงการใหม่เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ไม่รู้ว่าปี 2563 จะได้รับจัดสรรเท่าเดิมหรือมากกว่า และปกติจะเริ่มประมูลงานโครงการใหม่ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค. สำหรับโครงการขนาดเล็ก ให้เบิกจ่ายได้ทัน 1 ต.ค. ให้เม็ดเงินที่เบิกจ่าย 15% เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่วนโครงการใหญ่ต้องขอนุมัติจาก ครม.ภายในเดือน มี.ค. 2563

“บางโครงการเป็นขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท จะล่าช้าจากเดิมที่ต้องเซ็นให้หมดเดือน มี.ค. เลื่อนเป็นกลางเดือน มิ.ย. 63”

เช่นเดียวกับที่แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงชนบทระบุว่า ได้ยื่นเสนอของบฯปี”63 ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะได้รับจัดสรรใกล้เคียงปี”62 ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท ยังไม่รู้ว่าจะถูกรื้อใหม่หรือไม่ หลังงบฯปี”63 ล่าช้า 3 เดือน จะกระทบต่อแผนประมูลงานใหม่ของกรมที่มีอยู่เฉลี่ยปีละ 3.9 หมื่นล้านบาท จากเดิมเดือน ส.ค.-ธ.ค.จะประมูลและเซ็นสัญญางานขนาดเล็กให้หมด ส่วนงานขนาดใหญ่จะไม่เกินเดือน มี.ค.เช่นเดียวกัน

ไฮสปีดแย่งงบฯสีส้ม-มอเตอร์เวย์ 

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีส้มที่ รฟม.จะเปิดประมูล PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 128,000 ล้านบาท ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างงานช่วงตะวันตกจากศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 96,000 ล้านบาท และงานเดินรถตลอดเส้นทางจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 36 กม. วงเงินลงทุนงานระบบ 32,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านบอร์ด PPP เดือน ม.ค. 2562 อยู่ระหว่างรอเสนอ ครม.อนุมัติเปิดประมูล อาจล่าช้าเนื่องจากติดเพดาน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่กระทรวงการคลังแจ้งว่าได้ขยายเพดานให้แล้ว และอยู่ระหว่างหาช่องทางจะจัดสรรงบฯให้

ให้เริ่มจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้า

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า แม้งบฯปี 2563 จะล่าช้า แต่คาดว่าปลายเดือน พ.ย. การพิจารณาน่าจะเข้าสู่วาระ 2 สำนักงบฯจะทำหนังสือเวียนแจ้งให้ทุกส่วนราชการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) การคัดเลือกผู้ประกวดราคา ยกเว้นแต่การลงนามในสัญญางบฯปี”63 ทุกโครงการต้องพร้อม

“ตอนนี้ผมให้ทุกหน่วยงานเสนอโครงการที่มีความพร้อม ก่อสร้างถนนหนทาง หรือโครงการที่ต้องเข้าพื้นที่ จะต้องมีหนังสือที่คนในพื้นที่เซ็นยินยอมแนบคำของบประมาณมาด้วย ซึ่งคิดว่าน่าจะมีความพร้อมถึง 90%”

ส่วนงบฯเหลื่อมปีที่จะสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงที่งบฯปี 2563 ล่าช้า ทุกส่วนราชการยังสามารถทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันได้จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2562มีวงเงินเหลือให้กู้เมกะโปรเจ็กต์

สำหรับเพดานการก่อหนี้ผูกพันที่มีการขยายกรอบจากเดิมไม่เกิน 5% เป็น 8% นั้น ทำให้เพดานวงเงินที่ก่อหนี้ได้ในแต่ละปีงบประมาณขยายจากราว 1.5 แสนล้านบาท เป็น 2.4 แสนล้านบาท แม้นับรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว ก็ยังมีวงเงินเหลืออีกราว 9 หมื่นล้านบาท หากจะทำสายสีส้มน่าจะเพียงพอ แต่ถ้าไม่พร้อมก็ไปเริ่มปีงบประมาณหน้า

TDRI ชี้ไม่กระทบความเชื่อมั่น

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า แน่นอนว่าการเบิกจ่ายงบฯปี 2563 จะล่าช้าไป 1 ไตรมาส ถึงปลายไตรมาส 1 ปี 2563 ส่วนที่จะกระทบจะเป็นงบฯลงทุนของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าด้วยการเร่งรัดการลงนามสัญญาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ไปก่อน ไม่ให้สะดุด แต่มีบางโครงการอาจต้องชะลอออกไป

ชง นบข.รับมือผลผลิตข้าว

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ 77% ณ เดือน มิ.ย. 2562 ส่วนกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีล่าช้าจากปกตินั้น ตามหลักระเบียบปฏิบัติ หากแผนงานใดเป็นค่าใช้จ่ายปกติ หรืองานต่อเนื่อง สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยใช้งบฯที่ผูกพันไว้

ส่วนงบประมาณในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าที่ผลผลิตจะออกมาช่วงครึ่งปีหลัง เช่น ข้าวเปลือกนาปี 2563/2564 กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ต้องเสนอแผนขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 ก่อนสิ้นปีงบประมาณปกติ หรือราวเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปีจะออกสู่ตลาด

ลุ้นผลผลิตน้อยดันราคาขึ้น

“ส่วน รมว.ใหม่จะพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนหรือไม่นั้นมองว่า ถ้าแผนที่เสนอไว้คัฟเวอร์วิธีการปฏิบัติ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาและจะใช้วิธีการใดก็คงไม่ถึงกับรื้อใหม่ เพราะถ้านับ 1 ใหม่จะช้า แค่เขียนเพิ่มไปว่าจะรักษาเสถียรภาพราคาด้วยวิธีการใด เช่น ให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวข้าว เป็นต้น ซึ่งไม่ส่งผลกระทบการดำเนินมาตรการ และรัฐบาลใหม่สานต่อได้ทัน ที่สำคัญ ปริมาณข้าวปีนี้อาจมีน้อยมากจากภาวะฝนทิ้งช่วง จนทำให้ราคาข้าวขยับขึ้น และภาครัฐไม่ต้องเข้าไปกำหนดมาตรการดูแลก็เป็นได้”

ชงอุ้มสินค้าเกษตร-ค่าครองชีพ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า แต่กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินกิจกรรมตามแผนงานได้ต่อเนื่อง ไม่กระทบ สำหรับแผนการดำเนินงานภายใต้งบฯปี”62 (กระทรวงพาณิชย์ได้รับจัดสรรงบฯ 6,337 ล้านบาท) อาจไม่จัดกิจกรรมใหญ่ แต่ปรับให้ทำงานไปได้ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ ขณะที่นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงแผนการดำเนินมาตรการช่วยเหลือรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และการช่วยเหลือค่าครองชีพว่า ยังดำเนินการตามนโยบายโดยไม่ต้องใช้งบฯ แต่ช่วยเหลือด้วยการลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพลิงเพื่อส่งเสริมการใช้ปาล์มในการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 อัตราลิตรละ 5 บาท ขณะนี้จำหน่ายอยู่ที่วันละ 15 ล้านลิตร

ส่วนมาตรการสำหรับสินค้าเกษตรอื่น ๆ เตรียมเสนอแผนต่อ รมว.พาณิชย์ คนใหม่ สำหรับการจัดกิจกรรมช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น มหกรรมธงฟ้าประชารัฐ จะปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับงบฯที่มี อาจลดขนาดและกระจายไปยังพื้นที่เขต/อำเภอมากขึ้น

ประกันข้าว-ยาง-ปาล์มแสนล้าน

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า หากโฉมหน้ารัฐบาลใหม่เป็นไปตามกระแสข่าวที่ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ จะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำด้วยการประกันราคาพบว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายประกันราคาข้าวที่ 10,000 บาท/ตัน จากปัจจุบันราคาตลาดอยู่ที่ 7,500-7,800 บาท/ตัน ผลผลิตรวม 8-10 ล้านตัน คาดว่าต้องใช้เงินงบประมาณ 16,000-20,000 ล้านบาทยางพารา ประกันราคาที่ 60 บาท/กก. ราคาตลาดปัจจุบัน 51.50 บาท/กก. ผลผลิต 4.4-4.6 ล้านตัน ใช้เงิน 38,250-39,100 ล้านบาท ประกันราคาปาล์มน้ำมันที่ 10 บาท/กก. ราคาตลาดปัจจุบัน 3.80-4.00 บาท/กก. ผลผลิต (สต๊อก) 3 ล้านตัน บวกผลผลิตปี”63-64 อีก 15 ล้านตัน คาดว่าต้องใช้เงินงบฯ 90,000-93,000 ล้านบาท รวมงบฯอุดหนุนทั้งหมด 155,650-170,700 ล้านบาทจึงต้องจับตาดูว่านโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรจะถูกบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล หรือไม่ รวมทั้งใช้เงินงบประมาณจากแหล่งใด

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่…ดึงเงินคงคลัง 6 แสนล้านเบิกจ่าย รับมืองบฯปี’63 ล่าช้า-กู้ชดเชยขาดดุลไม่ได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!