บล.กสิกรฯ ลุ้น SET Index ระยะสั้นทดสอบ 1,760 จุด รับปัจจัยฟันด์โฟลว์ไหลเข้า

แฟ้มภาพ

บล.กสิกรไทย มองเป้ากรอบระยะสั้น 1,660-1,760 จุด เผยหุ้นไทยยังมีส่วนต่างผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4.22% แม้ P/E พุ่งแตะ 16 เท่า มองสงครามการค้าฯ ดันฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทยหนุนดัชนีพุ่งอีกแรง ฟากธนาคารกลางภูมิภาคแห่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลกดดันธปท. ส่วนประเมินกำไรบจ. ปี’62 โต 8-9% ขนหุ้นอิงปัจจัยในประเทศแนะนำนักลงทุน “CPALL-CK-STEC” ติดโผ

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยมองกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัยพ์ SET (SET Index) ระยะสั้นไว้ที่ 1,660-1,760 จุด จากเดิมประเมินไว้ที่ 1,590-1,680 จุด โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ส่วนต่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ที่เดิมในระดับ 4.22% โดยอิงจากการวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยในช่วงวันที่ 10 พ.ค.62 และ 21 มิ.ย.62 ที่ผลตอบแทนจากพันธบัตรลดลง 0.32% ส่งผลให้ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 68 จุด และทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) เพิ่เเป็น 16.22 เท่า

โดยกรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้นดังกล่าวได้รวมปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และปัจจัยการเมืองในประเทศจากการจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปแล้ว โดยมองว่าปัจจัยเหล่านี้จะสนุนให้ SET Index ปรับขึ้น และหนุนให้ Fund Flow (เงินทุนจากต่างประเทศ) ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะสั้น Fund Flow อาจชะลอลงหรือมีการขายทำกำไรออกไปบ้าง

“ทิศทางดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yield) ที่ปรับลดลงจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่หนุน SET Index ให้ปรับขึ้นได้ แม้เราจะคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในปีนี้ก็ตาม โดยหากดัชนีสามารถเคลื่อนผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1,760 จุดไปได้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีสิ้นปีนี้ขึ้นไปทดสอบที่ 1,800 จุด” นายภาสกร กล่าว

ในส่วนของการดำเนินนโยบายทางการเงิน บล.กสิกรฯ มองว่า ธปท.น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายและเสถียรภาพทางการเงิน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งฟิลิปปินส์และมาเลเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อีกทั้งธนาคารกลางของประเทศอินโดนีเซียก็มีสัญญาณที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ค.นี้ โดย บล.กสิกรฯ คาดว่าอินโดนีเซียจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 5.75% จาก 6%

ส่วนปัจจัยค่าเงินบาทไทยที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง เป็นผลจากการที่ตลาดมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดดันต่อภาคส่งออก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะไม่ส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากหลายๆ บริษัทมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีเพียงการส่งออกเท่านั้น (Pure Export) ทำให้ปัจจัยค่าเงินกระทบกำไรบจ.น้อยมาก โดย บล.กสิกรฯ คาดว่ากำไรบจ.ปี 2562 จะยังเติบโตที่ 8-9%

ในทางกลับกันมองว่าหุ้นที่จะได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทแข็งค่า คือ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) ที่จะต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศ น่าจะได้กำไรเพิ่มขึ้นจากการที่เงินบาทแข็งค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าถูกลงประมาณ 20-30 ล้านบาท/ไตรมาส

ทั้งนี้ ในภาวะตลาดที่มีแนวโน้มปรับขึ้นฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำกลยุทธในการลงทุนโดยให้เลือกหุ้นที่เกี่ยวโยงกับการบริโภคและปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์แนะนำ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ราคาเป้าหมาย 92.00 บาท เนื่องจากเชื่อว่า CPALL จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล และจากโอกาสที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัด กลุ่มสินค้าเกษตรแนะนำ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่ราคาเป้าหมาย 33.00 บาท เนื่องจากมองว่าราคาเนื้อสุกรจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2562 หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ในเวียดนาม

กลุ่มรับเหมาโยธาแนะนำ บมจ.ช.การช่าง (CK) ราคาเป้าหมาย 36.50 บาท และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ราคาเป้าหมาย 31.00 บาท เนื่องจากมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นจากการประมูลโครงการภาครัฐภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่แนะนำ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ราคาเป้าหมาย 22.00 บาท และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ราคาเป้าหมาย 152.00 บาท โดยยังชอบธนาคารขนาดใหญ่ เพราะคาดว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (CI ratio) และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) จะยังปรับลดต่อเนื่อง ขณะที่การก่อตัวของหนี้เสียใหม่ (NPL) ปรับลดลง QoQ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/61

กลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแนะนำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ราคาเป้าหมาย 13.31 บาท TFFIF มีจุดเด่นตรงที่ 1) มีอายุกองทุนเหลืออยู่ 29 ปี 2) กระแสรายได้ที่มั่นคง 3) ความผันผวนต่ำ และ 4) โอกาสที่จะมีการอัดฉีดสินทรัพย์โดยรัฐบาล กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมแนะนำ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ราคาเป้าหมาย 27.50 บาท โดยคาดว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และจากการย้ายฐานโรงงานจากจีน

กลุ่ม ICT แนะนำ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ราคาเป้าหมาย 58.35 บาท และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ราคาเป้าหมาย 7.77 บาท ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มนี้เพราะคาดว่า 1) ตลาดจะมองบวกต่อทิศทางการเติบโตด้านรายได้ของอุตสาหกรรมมือถือมากขึ้น หลังจากมีการแข่งขันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง 2) ตลาดประเมินโอกาสการปรับลดของต้นทุนจากการยุติบริการ 2G ที่น้อยเกินไป และ 3) ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 5G และวัฏจักรการลงทุน (CAPEX) ในอนาคตมากเกินไป