ยกระดับเอสเอ็มอี ก้าวสู่ดิจิทัลอาเซียน

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับ เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 34 พร้อมประกาศแผนพัฒนาและผลักดันให้ 10 ประเทศอาเซียน ก้าวสู่การเป็นดิจิทัลอาเซียน ซึ่งหมายถึงการพัฒนาประเทศอาเซียนให้มีระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบดิจิทัลที่มีความมั่นคง ปลอดภัยและยั่งยืน

จากแนวคิดดังกล่าว ประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งรวมถึงไทย จะมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นดิจิทัลอาเซียนมากน้อยแค่ไหน ผมขอหยิบยกข้อมูลวิจัยที่น่าสนใจ จากรายงานดัชนี “ความพร้อมทางด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” (APAC SMB Digital Maturity Index) ของบริษัทซิสโก้ร่วมกับบริษัทวิจัยตลาดไอดีซี ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,340 ราย เรื่องความพร้อมด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีใน 4 แง่มุมทางด้านธุรกิจ ได้แก่ 1.การปรับใช้เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชั่น 2.กลยุทธ์การเปลี่ยนผ่าน สู่ดิจิทัล (digital transformation) ในองค์กร 3.กระบวนการและการกำกับดูแล และ 4.ความสามารถในการจัดหา จัดการ และรักษาบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อทำงานด้าน digital transformation

รายงานสะท้อนว่า เอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียน (เว้นสิงคโปร์) มีความพร้อมด้านดิจิทัลในระดับ “digital indifferent” หมายความว่า ธุรกิจมีการนำดิจิทัลมาใช้เพียงเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด แต่ยังไม่ถึงระดับที่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจเชิงรุก

สำหรับเอสเอ็มอีไทย พบว่ามีการลงทุนในเทคโนโลยีคลาวด์เป็นอันดับแรก 13.3% อีก 12.1% ระบุว่าองค์กรของตนกำลังลงทุนอัพเกรดซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ด้านไอที อีก 11.7% ระบุว่า cybersecurity เป็น 1 ใน 3 เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในการลงทุน

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีไทยยังคงประสบปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวาง digital transformation อยู่ โดย 17.9% ขาดแคลนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานและข้อมูลลูกค้า อีก 15.7% ขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลและบุคลากร และอีก 14% ขาดแคลนกระบวนการคิดที่เป็นดิจิทัล (digital mind set) หรือความท้าทายด้านวัฒนธรรมภายในองค์กร

จากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว ผู้ทำรายงานได้มีข้อแนะนำเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีในไทยปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลให้รวดเร็วขึ้น ด้วยบันไดขั้นแรก คือ ต้องวางแผนพัฒนาธุรกิจระยะยาวและชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสำคัญ ๆ และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่สำหรับการขยายธุรกิจให้เติบโตได้ อาทิ การปรับใช้ระบบงานอัตโนมัติและระบบดิจิทัล เอสเอ็มอีควรมองหาหนทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพโดยอาศัยระบบงานอัตโนมัติ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรกำหนดนโยบายเพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับกระบวนการต่าง ๆ ในองค์กรให้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยควรจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงกระบวนการ รวมทั้งผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มความคล่องตัวของการปฏิบัติงาน

แม้การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลนั้นเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้บริหารและพนักงานทุกคน ด้วยการมองหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลภายในองค์กรมาช่วยแต่เนิ่น ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ เพื่อสร้างวัฒนธรรมของการเปลี่ยนแปลง (ที่คงมีให้เห็นเรื่อย ๆ ในอนาคต) ไปพร้อม ๆ กับสนับสนุนการทำงานร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ ความเสี่ยงด้านบริหารธุรกิจและความสำเร็จ

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาการดำเนินกลยุทธ์ digital transformation ควรหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์ทำงานกับเอสเอ็มอีเพื่อพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจร่วมกัน และช่วยส่งเสริมธุรกิจให้ขยายออกไป เมื่อบวกเข้ากับแนวโน้มการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีมากที่สุดในโลก ยิ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้มีโอกาสสูงที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นดิจิทัลอาเซียนได้สมบูรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกมหาศาลในอนาคตครับ