ความขัดแย้งสหรัฐ-จีน ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น

คอลัมน์เลียบรั้วเลาะโลก
ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

แนวโน้มเศรษฐกิจข้างหน้าดูน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่เริ่มปะทุแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากการพบปะระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับสี จิ้นผิง เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ญี่ปุ่น ได้ตกลงว่าจะเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่ หลังจากนั้นผู้แทนการค้าสหรัฐ นำโดย
นายโรเบิร์ต ไลต์ไทเซอร์ เดินทางไปประชุมกับฝ่ายจีนในปลายเดือนกรกฎาคม แต่ก็ไม่ได้ข้อตกลงอะไร เพียงแต่ทั้ง 2 ฝ่ายกล่าวว่าจะมีการเจรจาอีกรอบในเดือนกันยายน

ผ่านมาไม่กี่วัน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลืออีกมูลค่ากว่า 3 แสนล้านเหรียญ เป็น 10% ในวันที่ 1 กันยายน (ซึ่งจะมีผลให้สินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด 5.5 แสนล้าน ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น โดยกลุ่ม 250,000 ล้านเหรียญแรก ถูกเก็บภาษีนำเข้าแล้ว 25%) ส่วนจีนก็สั่งให้บริษัทจีนระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ

ต่อจากนั้น ในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม ค่าเงินหยวนปรับลดลงถึง 1.5% ลงมาที่ระดับ 7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ อ่อนสุดในรอบ 11 ปี การอ่อนค่าของเงินหยวนนี้ อาจมองได้ 2 ด้าน คือ เป็นการปรับตัวของตลาดที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนจะอ่อนแอลง จากแนวโน้มความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงขึ้น หรืออีกด้านหนึ่งมองว่าเป็นกลยุทธ์ของจีนที่แทรกแซงให้ค่าเงินอ่อนลง เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ และในคืนวันเดียวกัน กระทรวงการคลังสหรัฐก็ประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน (currency manipulator) จีนเคยถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศแทรกแซงค่าเงิน เมื่อปี 2537 และได้ถูกถอนชื่อออกในเวลาต่อมา เมื่อจีนยอมปฏิรูปและเปิดประเทศมากขึ้น

ประเด็นที่ทำให้ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มเติมที่สำคัญ คือ ทรัมป์ต้องการให้จีนซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐ ซึ่งนับจากมีสงครามการค้า จีนลดการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐลงกว่า 50% โดยปี 2018 จีนนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจาก 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2017 ดูเหมือนว่าทรัมป์กำลังบีบจีนมากขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้เริ่มเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า จึงต้องรักษาฐานเสียงสำคัญคือกลุ่มเกษตรกร ทรัมป์จึงต้องเล่นบทเข้มกับจีนเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่าสถานการณ์อาจจะแย่ลงกว่านี้

จึงเป็นที่น่ากังวลว่า การที่ทรัมป์กดดันจีนเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ปัจจุบันชะลอตัวอยู่แล้ว เพราะท่าทีของจีนนั้น ชัดเจนว่า จะไม่ยอมถูกสหรัฐบีบฝ่ายเดียว ข้อแลกเปลี่ยนที่จีนต้องการ คือ การผ่อนปรนเรื่องหัวเว่ย (ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของสหรัฐ น่าจะเจรจากันได้ยาก) และสหรัฐต้องลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าที่ประกาศไปแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าจีนจะไม่ยอมสหรัฐ ทั้งนี้ทางจีนน่าจะประเมินว่าจะรับมือกับผลกระทบดังกล่าวได้ จึงซื้อเวลาเพื่อรอผลการเลือกตั้งของสหรัฐ ว่าประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปจะเป็นใครและจะมีท่าทีกับจีนอย่างไร

ทั้งนี้ หากจะดูผลกระทบจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้แล้ว โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมชะลอในครึ่งปีแรก การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงทั่วโลก สำหรับประเทศจีนนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง จาก 6.5% ในไตรมาส 3 ปี 2018 เป็น 6.2% ในไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่มีการประเมินว่าสงครามการค้า ทำให้การจ้างงานของจีนลดลง 1.8-1.9 ล้านตำแหน่ง การส่งออกของประเทศเอเชียที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนก็ปรับลดลง 3-8% ทั้งนี้เป็นผลกระทบระยะแรกของการขึ้นภาษีเป็นร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่ผลกระทบต่อสหรัฐนั้นยังจำกัด เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนเกษตรกรก็ได้รับการชดเชยบางส่วน แต่นับจากนี้ผลกระทบน่าจะเพิ่มขึ้น และลงไปถึงผู้บริโภค เพราะสินค้านำเข้าจากจีนถูกปรับภาษีขึ้นจาก 10% เป็น 25% และหากมีการขึ้นภาษีสินค้าเพิ่มเติมอีกกว่า 300,000 ล้านเหรียญ ในเดือนกันยายน ผลกระทบก็จะรุนแรงขึ้น เพราะจะครอบคลุมสินค้าทั้งหมดที่จีนส่งไปสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

ความเสี่ยงก็คือ ผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐและจีนนั้นประเมินยาก และหากทั้ง 2 ฝ่ายตอบโต้กันรุนแรงขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้น จนทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้ามีเพิ่มขึ้น ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้สะท้อนในความเห็นของไอเอ็มเอฟ และประธานธนาคารกลางสหรัฐ และด้วยความไม่แน่นอนนี้เอง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐรีบลดดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตในเกณฑ์ดี ขณะที่ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะผ่อนคลายนโยบายเพื่อพยุงเศรษฐกิจของตน ซึ่งตลาดพันธบัตรได้คาดการณ์แล้วว่า ดอกเบี้ยจะต้องลงอย่างมีนัยสำคัญ ดูได้จากการปรับลดลงของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 1.72% เยอรมนี -0.5% ญี่ปุ่น -0.3% และของไทยอยู่ที่ 1.73%

คำถามคือ การลดดอกเบี้ย จะเพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจให้พ้นจากการถดถอยได้หรือไม่