หมดกระสุน “กดบาทอ่อน” ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาดคาด

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 3 ก.ย. แสดงความกังวลถึงการแข็งค่าของเงินบาทในปี 2562 นี้ โดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก จะยิ่งทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ายิ่งขึ้นไปอีก ซึ่ง กกร. มองว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก และการท่องเที่ยว จึงต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการออกมาดูแล

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มหลังจากนี้ ค่าเงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าในช่วงปลายปีที่ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ต้องรอจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในกลางเดือน ก.ย.นี้ก่อนด้วย ว่าจะส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร ทั้งนี้ สำหรับปัจจุบันการที่เงินบาทแข็งค่าอยู่นั้น เนื่องจากนักลงทุนหลบความผันผวนจากตลาดโลกมายังตลาดที่ปลอดภัย แต่เรื่องเก็งกำไรน่าจะไม่ค่อยมีแล้ว

ดร.อมรเทพ จาวะลา

“วันนี้คงให้น้ำหนักการลดดอกเบี้ยของเฟดค่อนข้างมาก ซึ่งการประชุมเฟดเดือน ก.ย.นี้ คนก็คาดกันว่าเฟดจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยเราเตือนว่า เศรษฐกิจอเมริกาไม่ได้ย่ำแย่ถึงขนาดที่เฟดจะต้องมีการลดดอกเบี้ยถึง 1% หรือลดอีก 4 ครั้ง เรามองว่าไม่จำเป็นต้องลดขนาดนั้น เพราะเศรษฐกิจอเมริกาแม้จะชะลอ แต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย ดังนั้น หากตลาดพลิกกลับมามองว่า เฟดไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยแรง สุดท้ายเงินก็อาจจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ กลับไปสหรัฐ เงินบาทเองก็จะอ่อนค่าลงได้”

“ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ช่วงนี้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงไม่มาก เพียงแต่ทิศทางก็จะเป็นไปในทางแข็งค่า นอกเสียจากจะมีผู้ที่จะ “ซื้อดอลลาร์” มาก ๆ จนทำให้ค่าเงินบาทกลับไปอยู่แถว ๆ 31 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง ก็คงดูแลเฉพาะตอนที่มีเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป

“ผมคาดว่าถึงสิ้นปี เงินบาทน่าจะแข็งค่ามากขึ้นกว่าปัจจุบันอีก เพราะตอนแรกคิดว่าพอหุ้นผันผวนมาก ๆ อาจจะมีคนขายหุ้น หรือพันธบัตร (บอนด์) แล้วนำเงินกลับออกไป แต่ผ่านมาจนถึงเดือน 9 แล้ว ก็ยังไม่มีแบบนั้น มีแต่คนรอมาเข้า ฉะนั้น หลังจากนี้หากมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง เช่น เหตุประท้วงที่ฮ่องกงคลี่คลาย หรืออังกฤษเลื่อนออกจากสหภาพยุโรป แล้วยุโรปก็ยอมให้เลื่อนได้ หรือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ คุยกับสี จิ้นผิงได้ ถ้าแบบนั้นค่าเงินบาทคงแข็งค่ายาวไป ขณะที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมีการอ่อนค่าเพียงเล็กน้อย ๆ ก็จ้องขายทำกำไรกันแล้ว จากเมื่อก่อนต้องรอให้เงินบาทอ่อนค่ามาก ๆ ก่อนเพราะสภาพคล่องน่าจะตึงมือกันแล้ว”

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

ซึ่งการจะช่วยผู้ส่งออก โดยทำให้เงินบาทอ่อนค่าในตอนนี้คงทำได้ยากแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ มีการช่วยผู้ส่งออกในจังหวะที่ไม่ควรช่วย คือ ใช้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในจังหวะที่ส่งออกยังไปได้ดี ทำให้เมื่อการส่งออกไม่ดีเช่นปัจจุบัน จึงไม่มี “กระสุน” ที่จะไปช่วยได้อีก

“ที่ผ่านมา เราไปซื้อดอลลาร์มาจนเต็มลิมิตที่จะซื้อได้แล้ว ก็เลยทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะขอให้ดูแลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอีก ผมว่ามันเลยจุดนั้นมาแล้ว ดังนั้น ธุรกิจก็คงต้องปรับตัว ซึ่งการที่ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะจริง ๆ แล้ว สินค้าไทยก็ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว แต่เราใช้ราคา ใช้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเข้าไปช่วยในช่วงที่ผ่านมา” ดร.จิติพลกล่าว และว่า หากจะส่งออกให้ได้มากขึ้นช่วงนี้ ภาครัฐคงต้องใช้วิธีเจรจาตรงกับประเทศคู่ค้า (G to G) เป็นหลัก เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันตอนนี้ขึ้นกับการใช้เครือข่าย หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการค้าขาย

ส่วนการที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าจนหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ ในปีนี้ คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันไม่ค่อยมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามามาก ๆ แล้ว โดยช่วงนี้ต่างชาติก็เริ่มมองกันแล้วว่า เงินบาทอาจจะถึงระดับที่แพงไปแล้วหรือไม่ ยกเว้นแต่มีบางประเทศเกิดปัญหาขึ้น แล้วมีการนำเงินเข้ามาพักในไทย แต่เท่าที่ดูปัญหาในหลาย ๆ ประเทศก็น่าจะถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว

“ถ้าเป็นต้นปีหน้าก็มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าหลุด 30 บาท เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจปีหน้าที่เริ่มต้นด้วย ราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าปีก่อนเกือบ 10% ฝั่งผู้ส่งออกก็คงเทขายดอลลาร์กัน ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าลงไปลึกขึ้น ทั้งนี้ ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ต่างจากช่วงปี 2540 ดังนั้น แนวโน้มข้างหน้า ค่าเงินบาทก็คงไม่ใช่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์อีกแล้ว แต่จะกลับไปสู่ระดับ 25 บาท”

ดังนั้น เมื่อทิศทางค่าเงินเป็นเช่นนี้ ผู้ส่งออกก็คงต้องปรับตัวให้ทัน จะรอมาตรการรัฐอย่างเดียวคงไม่พอ