ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบ ขณะตลาดจับตาผลการประชุม กนง.

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 30.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 30.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และทางการจีน โดยออกแถลงการณ์เพื่อสรุปผลการเจรจาการคาระดับรัฐมนตรีช่วยของสหรัฐและจีนซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การเจรจาทั้งสองวันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับยืนยันว่าการประชุมเพื่อเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีจะจัดขึ้นในเดือน ต.ค.ที่กรุงวอชิงตัน ตามกำหนดการเดิม

นอกจากนี้นายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐสามารถผ่านพ้นภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการทำสงครามการค้ากับจีน จึงไม่มีความจำเป็นที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมกล่าวว่าการเพิ่มการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะเพิ่มความเสี่ยงจากการที่อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะทำให้ภาคครัวเรือนและบริษัทต่าง ๆ มีการก่อหนี้มากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงแตะระดับที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.46-30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.50% ด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมวันที่ 25 ก.ย. โดยตลาดจะให้ความสนใจกับสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือน ส.ค. ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดนำเข้าติดลบ 14.62% ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 2.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากไม่นับรวมทองคำ การส่งออกจะหดตัวถึง 9.8% ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี ส่งออกลดลง 2.19% ส่วนนำเข้าหดตัว 3.61%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (23/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1020/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 1.1046/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบคอมโพสิตขั้นต้นของบริษัทไอเอชเอส มาร์กิต ลดลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือน ก.ย. จาก 51.9 ในเดือน ส.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 51.9 โดยภาคธุรกิจในยูโรโซนยังชะลอตัวในเดือน ก.ย. หลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศมาตรการแบบไม่มีกำหนดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของยูโรโซน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0967-1.1025 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0972/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (23/9) ปิดตลาดที่ระดับ 107.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 107.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยน
แกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นปิดทำการวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.34-107.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.38/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน ส.ค. จากเฟดชิคาโก (23/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือน ก.ย. จากมาร์กิต (23/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ก.ย.จากมาร์กิต (23/9) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. จาก Conference Board (24/9) ยอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. (25/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (26/9) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 (26/9) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ส.ค. (27/9) การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือน ส.ค. (27/9) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. จากมหาวิทยาลัยมิิชิแกน (27/9)

Advertisment

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประทเศอยู่ที่ -1.7/-1.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.2/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

Advertisment