ค่าเงินบาททำสถิติแข็งสุดรอบ 6 ปีครั้งใหม่ คาดเงินทุนต่างชาติไหลเข้าซื้อหุ้น AWC เปิดเทรดวันแรก 10 ต.ค.นี้

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า วันนี้ (9 ต.ค.) ค่าเงินบาท เปิดที่ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 30.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นไปสูงสุดที่ 30.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดที่ 30.29 ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นระดับแข็งค่าที่สุดของปีนี้และแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี

“เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินทุนไหลเข้าเพื่อเตรียมลงทุนในหุ้น ซึ่งคาดกันว่าเป็นหุ้น AWC (บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป) ส่วนที่สองเกิดเงินหยวนที่ไม่ได้อ่อนค่าลงอย่างที่ตลาดคาดไว้หลังจากกลับมาเปิดตลาด และราคาทองก็ปรับตัวขึ้นสวนทางกับเงินดออลาร์ ทำให้มีแรงขายดอลลาร์ซื้อบาทกดตลาดลงมา” ดร.จิติพลกล่าว

ดร.จิติพล กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปยังคงมองเงินบาทแข็งค่าได้ต่อ โดยประเมินเงินบาทสิ้นปี 2019 ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยเร็วกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในอนาคตอาจลงไปต่ำกว่าดอกเบี้ยไทย นอกจากนี้ เงินบาทก็เป็นสกุลเงินที่ผันผวนน้อย มีภาระหนี้ต่างประเทศน้อย และเกินดุลการบัญชีเดินสะพัดเสมอ นักลงทุนจึงเลือกนำเงินเข้ามาพักเมื่อตลาดเกิดใหม่อื่น ๆมีความผันผวนสูง

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.) บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น AWC จะมีพิธีเปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก ซึ่งหุ้น AWC ดังกล่าว เป็นหุ้นน้องใหม่ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”ภายใต้การบริหารของ นางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่สองของเจ้าสัวเจริญ ซึ่งมีการประเมินกันว่าจะมีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ วันเข้าซื้อในตลาดถึง 1.92 แสนล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า วันนี้เงินบาทขยับแข็งค่าทดสอบแนว 30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ และเมื่อเทียบกับความเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแล้ว เงินบาทยังคงเป็นสกุลเงินที่มีอัตราการแข็งค่ามากที่สุด โดยแข็งค่าขึ้นแล้วในปีนี้ประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และค่อนข้างจะทิ้งห่างสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่ตามมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 อย่างเงินรูเปียห์ และเงินเปโซ ที่แข็งค่าขึ้นในปีนี้เพียง 2.8% และ 1.8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท น่าจะถูกอธิบายโดยฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมุมมองของนักลงทุนที่ว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย มากกว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศ โดยอาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากการคาดการณ์เรื่องการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท (อาทิ สถานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง) แล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในลักษณะที่เป็นการสวนทางสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ นั้น น่าจะเป็น “มุมมอง” ของตลาดที่ประเมินว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัยในยามที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงภายในเดือนต.ค. นี้ ที่มี 2 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และความเสี่ยงจากกรณี BREXIT แบบไร้ข้อตกลง

สำหรับทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ และแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางค่าเงินบาทอาจผันผวนได้ทั้ง 2 ด้านในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปมปัญหาของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์ของการเมืองภายในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงมากกว่าที่คาดในปีหน้า จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เงินบาทก็อาจถูกกดดันให้แข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่องจากการที่ไทยยังคงมีดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และมุมมองของนักลงทุนที่ว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัยที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจจะยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า