สรรพากรตั้งทีมเจาะข้อมูล”บริษัทเสี่ยง” เร่งขยายฐานผู้เสียภาษีเพิ่มอีก 4 ล้านคน

สรรพากรเร่งสปีดไล่ล่าภาษี ลุยใช้ “ดาต้าอะนาไลติกส์” เจาะลึกผู้เสียภาษีทุกมิติ ดันเป้ารายได้ 2.116 ล้านล้านบาท “เอกนิติ” เร่งเข็นกฎหมาย “แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ-อีบิสซิเนส” เข้าสภา ปิดช่องโหว่บริษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษี พร้อมแผนขยายฐานภาษีให้ถึง 15 ล้านคน

ขีดเส้นเก็บภาษีกูเกิล-เฟซบุ๊กปี”63

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำขอระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างประเทศ (AEOI) ซึ่งร่างกฎหมายได้ผ่านการตรวจและปรับปรุงจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 16-31 ต.ค. 2562 ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศ (อาทิ กูเกิล เฟซบุ๊ก เน็ตฟลิกซ์ อโกด้า เป็นต้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นกฤษฎีกา ส่วนภาษีในลักษณะ turn over tax เหมือนที่ฝรั่งเศสนำมาใช้เก็บภาษีบริษัทต่างชาติที่ไม่จดทะเบียนในประเทศ แต่มีรายได้เกิดในประเทศ ในอัตรา 3% นั้น ทางกรมสรรพากรเพียงแค่ศึกษา แต่ยังไม่ได้มีนโยบายว่าจะนำมาใช้

“กฎหมาย 2 ฉบับนี้หากผ่านออกมาบังคับใช้ จะทำให้กรมมีช่องทางเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติได้มากขึ้น ซึ่งสำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล น่าจะทันบังคับใช้ได้ในปี 2563 เพราะผ่านกฤษฎีกาไปแล้ว กำลังเฮียริ่งรอบสุดท้ายก่อนเข้าสภา ซึ่งก็ต้องลุ้นให้ผ่านสภา” นายเอกนิติกล่าว

สำหรับภาษีอีบิสซิเนสนั้น ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรประเมินว่า หากมีผลบังคับใช้จะทำให้กรมเก็บรายได้เพิ่มขึ้นราว 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี รายงานข่าวสรรพากรระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศนั้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ไม่มีพรมแดน ทำให้มีการโยกย้ายกำไรไปในประเทศที่มีความจูงใจด้านภาษีอากร ส่งผลให้การติดตามจัดเก็บภาษีอากรของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการเลี่ยงภาษีจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

ปิดหีบปี”62 เกินเป้าในรอบ 8 ปี

ด้านนายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา PwC Thailand”s Symposium 2019 ว่า ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) นี้ รัฐบาลตั้งรายจ่ายรวมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยกรมสรรพากรได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 2,116,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่ได้รับเป้าจัดเก็บ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งถึงสิ้นปีงบประมาณ กรมสามารถจัดเก็บได้ 2.009 ล้านล้านบาท หรือเกินเป้าราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดเก็บเกินเป้าปีแรก นับตั้งแต่ปี 2554

“ขณะที่การจัดทำประมาณการรายได้ปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ซึ่งถึงตอนนี้ตัวแปรต่าง ๆ เปลี่ยนไปหมด ดังนั้น ต.ค. 62 ที่เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 หากไม่ทำอะไร ภาษีก็จะหายไปราว 80,000 ล้านบาท เพราะตอนจัดทำประมาณรายได้คำนวณราคาน้ำมันที่ 72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันเหลือ 60 เหรียญ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคำนวนที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เหลือ 31 บาท ดังนั้น สรรพากรต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ” นายปิ่นสายกล่าว

สแกนข้อมูลผู้เสียภาษีละเอียด

นายปิ่นสายกล่าวว่า นโยบายการเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2563 อธิบดีกรมสรรพากรได้นำระบบการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ data analytics มาใช้ ซึ่งมุ่งเน้น 2 ด้าน คือ ปรับกระบวนการทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนยื่นภาษี จนกระทั่งจ่ายภาษี หรือแม้แต่การคืนภาษี ต่อไปจะไม่มีการคืนเป็นเงินสดหรือเช็คแล้ว แต่จะคืนทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็คืนผ่านอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 100% แล้วในด้านการตรวจสอบภาษีก็จะใช้ data analytics นำข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกเข้ามา

ทั้งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีประเภทต่าง ๆ ไปจนถึงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ข้อมูลประกัน ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฯลฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์จัดกลุ่มผู้เสียภาษีออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มดีที่อยู่ในฐานภาษี, กลุ่มดีที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี, กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในฐานภาษี และกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี ซึ่งกลุ่มดีที่เสียภาษี กรมก็จะอำนวยความสะดวกให้ เช่น คืนภาษีให้เร็ว เป็นต้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงก็จะถูกกรมประกบรายตัว

“การนำระบบดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษีอยู่ในกระบวนการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์ด้วย ขณะที่หลายเรื่องก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา”

ชี้อีคอมเมิร์ซโตฉุด VAT ต่ำเป้า

นายปิ่นสายกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ถึงปัจจุบันพบว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 3 เท่า ขณะที่การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้ จากผู้ค้าขายออนไลน์ในประเทศยังมีข้อติดขัด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษี VAT ในประเทศต่ำกว่าเป้าหมายเดือนละ 2,000 ล้านบาท โดยแนวทางเก็บภาษีกลุ่มนี้ก็ต้องใช้ data analytics รวมถึงใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ

สำหรับการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศที่มีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือภาษีอีบิสซิเนส ปัจจุบันร่างกฎหมายอยู่กฤษฎีกา โดยแนวทางคือจะมีการให้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ VAT ทางช่องทางออนไลน์ และเป็นผู้หักภาษี VAT จากค่าสินค้าและบริการที่ขายให้แก่คนไทยไว้ ซึ่งแต่ละเดือนแพลตฟอร์มจะต้องนำส่ง VAT มาให้กรมสรรพากร

“เรื่องภาษีอีบิสซิเนส ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะมีออกมา ไม่อย่างนั้นรายได้ VAT ก็คงจะลดลงไปเรื่อย ๆ” นายปิ่นสายกล่าว

ลุยรื้อภาษีบุคคลธรรมดา

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นายปิ่นสายกล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี โดยประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน ซึ่งเมื่อตัดผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปีและกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีออกไป เช่น เกษตรกร เป็นต้น จะเหลือผู้ที่ควรอยู่ในฐานภาษีประมาณ 15 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ในฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่ 11 ล้านคน ดังนั้น กรมต้องขยายฐานอีก 4 ล้านคนที่ยังอยู่นอกระบบ

“และถึงแม้จะมีในฐานภาษี 11 ล้านคน แต่จริง ๆ ผู้ที่เสียภาษีอยู่มีแค่กว่า 4 ล้านคน ส่วนอีกกว่า 6 ล้านคน ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบ แต่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องชำระ ดังนั้น สรรพากรได้รับมอบหมายให้ศึกษาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่” นายปิ่นสายกล่าว

ตั้งหน่วยงาน Transfer Pricing

นายปิ่นสายกล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมสรรพากรมีแนวคิดจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา เพื่อดูแลส่วนของภาษี transfer pricing หรือมาตรการกำหนดราคาโอน ที่มีผลบังคับใช้ในรอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เพื่อเป็นทีมตรวจสอบ รวมถึงจัดหาโปรแกรมมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อไม่ให้มีการใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบภาษี เนื่องจากบริษัทที่เข้าข่ายเสียภาษี transfer pricing คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “disclosure form” ยื่นต่อกรมสรรพากร พร้อมกับแบบแสดงรายการภาษี ทำให้จะมีเอกสารเข้ามาจำนวนมาก


นอกจากนี้ โฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัพที่มีการลงทุนปรับปรุงระบบการผลิตไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีการให้หักลดหย่อนภาษีมากขึ้นเป็นพิเศษ รวมถึงมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้มีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้วย