
อดีตผู้ว่าฯ ธปท.แนะรัฐช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไทย “ลงทุนต่ำ-เกินดุลบัญชีเดินสะพัด-ส่งออกสูง” ป้องกันค่าบาทแข็งระยะยาว มองมาตรการ “ชิมช้อปใช้” แก้ปัญหาชั่วคราว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่มาจากทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยเชิงวัฏจักร ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ประชาชนอาจมีรายได้น้อย หรืออาจมีพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว เป็นต้น ส่วนปัจจัยเชิงวัฏจักร เช่น เศรษฐกิจอาจจะไม่ดีนัก ส่งผลกระทบผสมผสามกันไป ดังนั้น เมื่อจัดทำนโยบายสาธารณะจึงต้องเข้าใจว่ากำลังแก้ไขปัญหาส่วนใดอยู่
“หนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงวัฏจักร อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าเราใช้เครื่องมือไปประคองเฉพาะวัฎจักรและไม่ได้แก้โครงสร้างปัญหาก็จะไม่หาย การไปลดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือตัดหนี้ แบบนี้แปลว่าปัญหาเชิงโครงสร้างยังอยู่ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ถือว่าการแก้ปัญหาเชิงวัฏจักรมันผิด แต่เป็นการแก้ปวดเท่านั้น เมื่อผ่านไปซักระยะหนึ่งปัญหาก็จะกลับมาอีก ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หากว่าเขายากจน เราก็ต้องๆพยายามเข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ซับซ้อนมาก สมมติว่าเราแจกเงินให้อย่างเดียว เมื่อเงินหมดเขาก็ยังจนอยู่“ นายประสาร กล่าว
เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่า นายประสารกล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทเกิดจากทั้งปัจจัยเชิงวัฎจักร และปัจจัยเชิงโครงสร้างเช่นกัน การใช้นโยบายการเงินและการคลังสามารถแก้ปัญหาเชิงวัฎจักรได้เท่านั้น หรือแก้ไขได้ในระยะสั้น ขณะที่นโยบายระยะยาว เช่น นโยบายการศึกษา นโยบายอุตสาหกรรม นโยบายวิทยาศาสตร์ และนโยบายเทคโนโลยี เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาระยะยาว
“แต่นโยบายการเงินการคลังส่วนใหญ่จะเป็นตัวทริกเกอร์ และแน่นอนว่ามีอิทธิพล เช่น นโยบายภาษี ย่อมไปกระทบนโยบายเชิงโครงสร้าง ดังนั้น ขึ้นอยู่กับตัวนโยบายด้วย อย่างเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าเป็นปัจจัยชั่วคราวเชิงวัฎจักร จากการที่ธนาคารกลางของประเทศที่ประสบปัญหาใหญ่ๆ กำลังลดดอกเบี้ยลง และใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างนี้เรียกว่าแก้ปัญหาเชิงวัฎจักร แต่ถ้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ การลงทุนน้อย และการนำเข้าน้อย ส่งผลให้เกิดดุลการค้าเกินดุลเยอะ ก็ต้องไปส่งเสริมให้มีการลงทุน และการใช้จ่าย ก็จะทำให้การส่งออกและนำเข้าสมดุล“ นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า ตอนนี้จะให้ธปท.แก้ปัญหาคนเดียวอาจแก้ปัญหาไม่ได้หากคนไม่นำเข้าหรือคนไม่ลงทุน เนื่องจากปัญหาเกิดจากการที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล รวมถึงประเทศไทยมีการส่งออกค่อนข้างมากและมีการนำเข้าน้อย ส่งผลให้มีแต่เงินเข้า หรือมีดอลลาร์มากในประเทศ เมื่อไหรดอลลาร์เข้ามามากเงินบาทก็แข็งค่า โดยวิธีแก้แบบยั่งยืนคือต้องทำให้การส่งออกและการนำเข้ามีความสมดุลกัน หรือกระตุ้นให้มีการลงทุน
“ก็เข้าใจว่าธปท.เขาพยายามประคองอยู่ แต่เขาอาจจะไม่ค่อยพูดเท่าไหร่ ก็ลองไปดูตัวเลขทุนสำรองของแบงก์ชาติ ไม่รู้ว่าเป็นยังไง” นายประสาร กล่าว
ในส่วนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มองว่าปัจจุบันประเทศไทยอาจมีข้อจำกัดในเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งผสมผสานกับปัจจัยเชิงวัฎจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ปัจจัยวัฎจักร คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกพร้อมๆ กัน ส่งผลกระทบในเรื่องของรายได้ประชากร และรายได้ของผู้ประกอบการ โดยปัจจัยวัฎจักรนี้อาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่หากเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง จะเป็นปัจจัยที่กินระยะเวลายาวนาน ดังนั้น จึงต้องแยกปัจจัยทั้ง 2 ประเภทนี้ให้ออก
“มาตรการ ‘ชิมช็อปใช้’ ช่วยแก้ปัญหาเชิงวัฏจักรมากกว่า หรือช่วยแก้ปัญหาในช่วงระยะเวลาชั่วคราว โดยหวังว่ามาตรการจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขายของได้ ผ่านการที่ประชาชนได้เงินไปใช้จ่าย ช่วยประคองพวกธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้รอดพ้นภาวะเชิงวัฏจักรไปได้ อันนี้ไม่ได้ว่าถูกหรือผิด เมื่อเป็นปัญหาเชิงวัฏจักรก็สามารถใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยประคองได้“ นายประสาร กล่าว