“แอร์เอเชีย” นำทัพโลคอสต์ยื่นหนังสือขอคลังลดภาษีน้ำมัน ชี้หากรัฐไม่ช่วยปีหน้าอาจต้อง “หยุดบิน”

“แอร์เอเชีย” นำทัพโลคอสต์ยื่นหนังสือขอคลังลดภาษีน้ำมัน ชี้หากรัฐไม่ช่วยปีหน้าอาจต้อง “หยุดบิน” ฟากคลังชี้้ต้นทุนขนส่งทางอากาศถูกกว่าขนส่งอื่นแล้ว แจงอัตราภาษีต่ำแถมไม่เสีย VAT-ไม่ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (13 พ.ย.) ตัวแทนผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลคอสต์แอร์ไลน์) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เพื่อขอให้พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับเครื่องบินลง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จนอาจถึงขั้นต้องล้มหายตายจาก หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากปัจจุบันถูกเก็บภาษีอยู่ที่ 4.726 บาทต่อลิตร ซึ่งปรับขึ้นเมื่อปี 2560 จากเดิมที่เคยถูกเก็บที่ 0.2 บาทต่อลิตร

“ผู้ประกอบการชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้เคยจ่ายภาษีน้ำมันอยู่ที่ 20 สตางค์ต่อลิตร แต่มาปี 2560 ก็มีประกาศปรับขึ้นตอนเดือน ก.ย. เป็น 4.726 บาทต่อลิตร ซึ่งมองว่าเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในช่วง 1-2 ปีมานี้ สถานการณ์เศรษฐกิจมีความผันผวน การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ ทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับตัวลดลง จากที่เคยเต็มลำ เหลือแค่ 70-80% ต่อเที่ยวบิน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็แข็งค่าขึ้นมากจากระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์” นายชาญกฤชกล่าว

ทั้งนี้ ได้หารือถึงแนวทางช่วยเหลือกันออกมา 2 แนวทาง แต่สุดท้ายต้องเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาร่วมกันอีกที โดยแนวทางเบื้องต้น คือ 1.ผู้ประกอบการขอให้ลดภาษีลงจากปัจจุบัน ส่วนจะเป็นเท่าใดนั้น ก็ขึ้นกับการพิจารณา โดยเมื่อเอกชนแข็งแรงขึ้นแล้วก็ค่อยทยอยปรับขึ้นในอีก 2-3 ปี และ 2.กำหนดช่วงอัตราแลกเปลี่ยน ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลง จะกำหนดอัตราภาษีน้ำมันที่เท่าใด เช่น การอ่อนค่าของเงินบาททุก ๆ 2 บาท ก็อาจจะเก็บภาษีที่อัตราหนึ่ง เป็นต้น

นายชาญกฤชกล่าวว่า สายการบินที่ยื่นหนังสือร้องเรียนมีด้วยกัน 5 สายการบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย, ไทยเวียดเจ็ต, นกแอร์, ไทยไลออนแอร์ และบางกอกแอร์เวย์

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นตัวแทนทุกสายการบินเข้ายื่นหนังสือ กล่าวว่า ขณะนี้ผลประกอบการของทั้ง 5 สายการบินขาดทุน โดยขาดทุนมาตั้งแต่ปีก่อน และสิ้นปีนี้ก็น่าจะขาดทุน ซึ่งปีหน้าหากปัญหายังไม่ทุเลา ก็คงมีบางส่วนที่ต้องลดขนาด หรือหยุดการบินลง ซึ่งการมายื่นหนังสือ เป็นการมาแสดงเจตจำนงให้ภาครัฐพิจารณา โดยปัจจุบันทุกสายการบินมีต้นทุนน้ำมันอยู่ที่ราว 30-35% ซึ่งหลังจากรัฐปรับขึ้นภาษีมา 2 ปี สายการบินไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาโดยสาร ทำให้ยิ่งเข้าเนื้อ ยิ่งปัจจุบันเจอสถานการณ์การท่องเที่ยวชะลอหนัก ก็เหมือนผลกระทบ 2 เด้ง


ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบัน ต้นทุนขนส่งทางอากาศถือว่าอยู่ระดับต่ำกว่าการขนส่งอื่นมาก ไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางเรือ หรือทางราง เนื่องจากภาษีน้ำมันไม่ได้อยู่ระดับสูง แถมไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และไม่ต้องถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานด้วย ดังนั้นการจะลดภาษีให้คงเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังเคยชี้แจงกับทางกระทรวงคมนาคมไปรอบหนึ่งแล้ว เมื่อ 4-5 เดือนก่อน