บลจ.เร่งปรับแผน “กองทุนSSF” ถก ก.ล.ต.เคลียร์ปมปิดฉาก LTF

บลจ.เร่งปรับแผนออกแบบ “กองทุน SSF” หลังรัฐบาลเคาะเงื่อนไขกองทุนลดหย่อนภาษีแบบใหม่ เปิดให้ลงทุน “หลักทรัพย์” ทุกประเภท “เอ็มเอฟซี-KTAM” ชิงเปิดตัวต้นปีหน้า 2-3 กอง ก.ล.ต.ถก บลจ.เคลียร์ปมนับถอยหลัง “ปิดกองทุน LTF”

บลจ.ปรับแผน “กอง SSF”

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) ที่จะมาทดแทนกองทุนหุ้นระยาว LTF ผิดไปจากที่อุตสาหกรรมคาดการณ์ไว้ ทำให้ บลจ.ต่าง ๆ จึงต้องวางแผนและเตรียมตัวกันใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะ บลจ.ที่มีบริษัทแม่ต่างประเทศต้องหารือกับบริษัทแม่ก่อนที่จะมาสรุปแผนภายในบริษัท อย่างไรก็ตาม การวางแผนเรื่องกองทุน SSF ยังพอมีเวลาจนถึงปี 2563 เพราะยังต้องออกประกาศเป็นกฎหมายต่อไป

สิ่งสำคัญตอนนี้ บลจ.ต้องเร่งวางแผนจัดการกับกองทุนหุ้นระยาว LTF ที่จะสิ้นสุดสิทธิรับลดหย่อนภาษีในปีนี้ เนื่องจากมีเรื่องระบบการหลังบ้านที่ต้องจัดการ ทั้งกรณีที่จะเปิดกองทุน LTF ให้มีการซื้อขายต่อไปได้ และกรณีที่ปิดไม่ให้มีการเงินใหม่เข้ามา โดย บลจ.ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าจะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี รวมทั้งผลกระทบหลังกองทุน LTF สิ้นสุด ซึ่งกองทุนหุ้นที่มีนโยบายลงทุนเชิงรุก (Active Fund) หากเม็ดเงินที่เข้ามาลดลง จะส่งผลให้การบริหารจัดการเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงทำได้ลำบากขึ้น

สำหรับแผนการจัดตั้งกองทุน SSF แม้ว่าหลักเกณฑ์จะเปิดให้สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภท แต่คาดว่าการออกแบบกองทุน SSF ของ บลจ.จะยังเน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เนื่องจากสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ สามารถลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) ได้อยู่แล้ว ซึ่งแต่ละ บลจ.มีกองทุน RMF รายละ 10 กว่ากอง

ก.ล.ต.เร่งแก้เกณฑ์อนุมัติกองทุน

ด้านนางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย ว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้หารือร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และผู้บริหาร บลจ. เกี่ยวกับรายละเอียดของกองทุน SSF รวมถึงแนวทางที่ ก.ล.ต.จะต้องแก้ไขกฎเกณฑ์บางส่วนเพื่อรองรับการออกกองทุนใหม่ให้ทันในปี 2563 เพื่อไม่ให้นักลงทุนเสียโอกาสลงทุน เบื้องต้น ก.ล.ต.มีแนวคิดให้อนุมัติแบบอัตโนมัติ (auto approval) สำหรับกองทุนทั่วไป เพื่อจะช่วยให้ บลจ.เสนอขายกองทุนได้ทันภายในเดือน ก.พ. 63

เคลียร์ปัญหา “ปิดกอง LTF”

นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังหารือถึงการบริหารจัดการกองทุน LTF ซึ่งจะต้องดำเนินต่อไปเพื่อรองรับการถือครอง (7 ปี) ของผู้ลงทุนที่ใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเดิม หากกองทุนจะเปิดให้ผู้ลงทุนใหม่เข้ามาลงทุนในกองทุน LTFต่อ จะต้องสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจว่าจะไม่ได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีแล้ว รวมถึงระบบหลังบ้านจะต้องแยกกลุ่มผู้ลงทุนเดิมและผู้ลงทุนใหม่ออกจากกันให้ชัดเจน เพราะกลุ่มผู้ลงทุนเดิมซึ่งใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องถือครองให้ครบ 7 ปี

“ส่วนกรณีที่กองทุนจะปิดไม่ให้มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามา ตอนนี้ยังหารือกันว่าในทางกฎหมายทำได้หรือไม่ จะต้องขอมติผู้ถือหน่วยเดิมหรือไม่ และ ก.ล.ต.สามารถเห็นชอบเรื่องนี้ได้หรือไม่ จึงยังไม่ได้ข้อสรุป”

ยัน SSF กระตุ้นคนรุ่นใหม่ออม

นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า สำหรับกองทุนรวม SSF กำหนดระยะเวลาการถือครองไว้ 10 ปี น่าจะช่วยจูงใจคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ต้องการลงทุนในกองทุน RMF ที่ต้องถือยาวถึงอายุ 55 ปี

ได้ดีกว่า และมีความยืดหยุ่นมากกว่ากองทุน LTF ในส่วนที่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็ได้ตามเกณฑ์กองทุน นอกจากนี้กองทุน SSF ผู้ลงทุนต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปีไหนก็ลงทุน แต่ถ้าปีไหนมีเงินไม่มาก ก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่มได้ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทที่รับเงินเดือนประจำ หรือเป็นเจ้าของกิจการซึ่งรายได้แต่ละปีไม่คงที่

ผลตอบแทน SSF อยู่ที่ 3-4%

นายสุเมธา ลิ่วเฉลิมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.เอ็มเอฟซี หรือ MFC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างวางแผนจัดตั้งกองทุน SSF คาดว่าจะออกมาช่วงเดือน ม.ค. 63 ประมาณ 2-3 กอง จะมีทั้งกองที่เสี่ยงมากและเสี่ยงน้อยให้ลูกค้าเลือก คาดผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4% ต่อปี โดยแนวคิดคงเน้นสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ผ่านการลงทุนหุ้นระยะยาวหรือหุ้นปันผล รวมถึงลงทุนผ่านตราสารหนี้และกองอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

“เราพยายามออกกอง SSF ให้เร็วที่สุดเพื่อให้ลูกค้าลงทุนได้ทันที คาดว่าน่าจะต้นปีหน้า ซึ่งต้องให้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณาอนุมัติโดยใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน”นายสุเมธากล่าว

นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย หรือ KTAM กล่าวว่า บริษัทกำลังประเมินว่าความเสี่ยงด้านสิทธิประโยชน์หักลดหย่อนภาษี ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ได้แค่ 5 ปี (2563-2567) แต่ต้องถือครอง 10 ปี ซึ่งถ้าบริษัทออกกองทุน SSF มาเยอะ ๆ ก็อาจจะทำให้ไซต์ต่อกองน้อย และทำให้การลงทุนไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงจะเสียประโยชน์ของผู้ถือหน่วย จึงต้องพิจารณารายละเอียดให้ชัดเจน เบื้องต้นบริษัทพร้อมออกประมาณ 2-3 กอง


“เราเน้นตอบโจทย์ลูกค้าจึงต้องมีความหลากหลาย และหากจะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ก็คงต้องเป็นลักษณะกองผสมความเสี่ยงเข้ามา เนื่องจากนักลงทุนรุ่นใหม่สามารถรับความเสี่ยงได้ ซึ่งอาจมีการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก อาทิ กองทุนอสังหาฯ น้ำมัน, ทองคำ เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีฟันด์แมเนเจอร์ผสมให้และคอยดูจังหวะการลงทุน ซึ่งกระแสโลกมีการจัดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกพวกนี้มากขึ้น เพราะการลงทุนสินทรัพย์เดิม ๆ อย่างหุ้นกับบอนด์ผลตอบแทนต่ำลงกว่าในอดีต”