ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ล้านจ่ายร้อย! กทบ. ชง ครม. เคาะหลักเกณฑ์หมู่บ้านละ 2 แสน ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อ ส.กองทุนฯ ชั้นดี 5 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) แถลงผลการประชุม กทบ. ครั้งที่ 2/2562 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการแนวทางการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพักชำระหนี้ ลดภาระหนี้เงินกู้ของสมาชิกกทบ. แบบสมัครใจในเบื้องต้น ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.62

สำหรับสมาชิกกทบ.ที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกกทบ.มีความประสงค์ต้องการชำระหนี้แบบสมัครใจ และต้องมีประวัติการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และสมาชิกกทบ.ที่ผิดนัดการชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมาด้วยเหตุผลสุดวิสัยและมีเหตุผลจำเป็น เช่น ภัยพิบัติ โดยผู้ผ่านหลักเกณฑ์ต้องทำแผนพัฒนาพัฒนาอาชีพและหารายได้เพิ่มต่อไป

ขณะที่โครงการยกระดับโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 200,000 บาท สำหรับกองทุนหมู่บ้านเกรด A B และ C คิดเป็นร้อยละ 90 ของจำนวนกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด โดยกทบ.จะทำหลักเกณฑ์และแนวทางการทำโครงการ การบริหารโครงการ และจะประกาศแนวทางออกไป

ทั้งนี้ จะนำเสนอครม.เพื่อขยายหลักเกณฑ์เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านเกรด D สามารถเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านละ 200,000 บาทได้

“นายสมคิดเสนอแนะว่า โครงการที่จะเข้าสู่การพิจารณาของครม. จะต้องเน้นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานหมู่บ้าน โครงการที่สามารถพัฒนา สร้างงาน สร้างรายได้ และมีความกว้างขวางจากเดิม เช่น สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน การใช้แรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพื้นผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยชุมชน แหล่งน้ำชุมชน เครื่องจักรแปรรูป หรือ กิจการชุมชนอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมศักยภาพการประกอบอาชีพ และความอยู่ดี กินดีมากขึ้น และขยายไปถึงการท่องเที่ยวชุมชน การสร้างงานและการใช้จ่ายในชุมชน”

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า หลังจากนี้ กทบ.จะดำเนินการกำหนดระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ต่างๆ และเสนอครม.เห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบเป็นการทั่วไป อย่างไรก็ดีระหว่างนี้ให้กองทุน ฯ เตรียมนำเสนอโครงการไปพลางก่อน ไม่บังคับว่าต้องเป็นโครงการเดิม หรือ โครงการใหม่ เพื่อให้เม็ดเงินลงไปสู่พื้นที่ ชุมชนและลงไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจและนำเสนอครม.ต่อไป

“สมาชิกกองทุน ฯ สามารถเตรียมการนำเสนอโครงการได้ทันที คาดว่าจะดำเนินการได้ราวต้นปี 63 และเปิดตัวโครงการต่อไปเดือนมกราคม เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จต้นปี 63 เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมกทบ.ยังมีมติรับทราบเรื่องการฟื้นฟูกทบ. ที่มีการดำเนินการดีขึ้น จำนวน 363 แห่ง จากจำนวนกองทุน ฯ ที่มีปัญหาในการดำเนินการราว 7 พันแห่ง โดยจะได้รับการเพิ่มทุนกองทุนฯละ 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีการลงนามข้อตกลง (MOU) กับมูลนิธิสัมมาชีพและกองทุนต้นไม้ร่วมกันพัฒนาที่กทบ.ดำเนินการไว้ รวมหน่วยงานที่ลงนามเอ็มโอยูทั้งหมด 8 แห่ง หลังจากได้ปลดล็อกกฎหมายป่าไม้ มาตรา 7 ทำให้สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้เพิ่มเติม

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้ากระบวนการในการคัดสรรผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยมีตนเป็นประธานอนุกรรมการคัดเลือก เช่น คุณสมบัติ ตัวชี้วัด เป้าหมาย หลักเกณฑ์การคัดเลือก จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 63

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกล่าวว่า กระบวนการ ขั้นตอนการพักชำระหนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกทบ. และคณะกรรมการชุมชนเมืองแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบและกฎหมายที่มีไว้รองรับ โดยจะประกาศแนวทางการดำเนินการต่อไป โดยระหว่างนี้จะจัดทำคู่มือในการนำเสนอโครงการ พิจารณาโครงการเพื่อแจกจ่ายให้กับสมาชิกกองทุน ฯ ต่อไป สำหรับมาตรการพักชำระหนี้แบบสมัครใจ โดยมีมาตรการเพื่อจูงใจสำหรับสมาชิกกองทุนฯชั้นดีที่ไม่ประสงค์จะพักชำระหนี้ อาทิ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3-5

“นายสมคิดในฐานะประธานในที่ประชุมแนะนำว่า บุคคลที่มีวินัยที่ดี มีประวัติที่ดีมาโดยตลอด ควรจะมาตรการส่งเสริม สนับสนุนให้มากขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนทำความดี โดนนายกอบศักดิ์ในฐานะกรรมการบริหารจะนำไปพิจารณามาตรการต่อไป โดยได้เน้นย้ำว่า เราไม่ต้องการให้การพักชำระหนี้เป็นแค่การฉีดยาชา แต่เราต้องการให้โครงการนี้มีอนาคต มีการอบรม บ่มเพาะความรู้ หรือ มาตรการช่วยเหลือ สนับสนุนให้สามารถประกอบอาชีพได้”

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะเสนอโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย หรือ โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมาชิกกองทุน ฯ ที่มีศักยภาพเพื่อการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ นอกเหนือจากกองทุน ฯ ละ 200,000 บาท วงเงินกู้รวม 5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยลดหย่อนร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำเงินไปต่อยอดการลงทุน