“กบข.-กบช.” จ่อปรับเกณฑ์ เปิดทางออมเพิ่มเป็น 30%

“กบข.-กบช.” จ่อปรับสัดส่วนให้สมาชิกสะสมเงินเข้ากองทุนเป็น 30% จากเดิม 15% ขุนคลังแจงสอดคล้องเกณฑ์ใหม่ที่กำหนด “SSF-RMF” หักลดหย่อนภาษีได้ 30% ฟากเลขาฯ กบข.ชี้อยู่ระหว่างแก้กฎหมายเปิดทางสมาชิกออมเพิ่มเพื่อรับวัยเกษียณ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างปรับอัตราการให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินสะสมเข้ากองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ ให้สอดคล้องกันทั้งหมด หลังจากล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่จะเริ่มขายหน่วยลงทุนในปีหน้า รวมถึงปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ใหม่

โดยกองทุน SSF นั้นกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนกองทุน RMF ปรับให้ลดหย่อนได้จากเดิมไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เป็น 30% สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

“ตอนนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มอัตราเงินสะสมของสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จาก 15% เป็น 30% ของเงินเดือน และกำหนดอัตราเงินสะสมของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่ 30% ของค่าจ้าง ไว้ในร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างกระบวนการผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้” แหล่งข่าวกล่าว

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในการแถลงกองทุน SSF และ RMF ที่ปรับปรุงใหม่ว่า การที่กระทรวงการคลังเสนอ ครม. ปรับเพิ่มสัดส่วนการหักลดหย่อน RMF เป็น 30% จากเดิม 15% นั้น เนื่องจากเพื่อให้สอดคล้องกับกองทุนอื่น ๆ ที่ได้มีการพิจารณาปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 30% เช่นเดียวกัน

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวว่า ขณะนี้ กบข.อยู่ระหว่างเสนอแก้กฎหมาย กบข. เพื่อเพิ่มอัตราเงินสะสมของสมาชิก จาก 15% เป็น 30% ของเงินเดือน โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ซึ่งการปรับปรุงเงินสะสมดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้สมาชิกมีการออมเงินเพื่อเกษียณได้มากขึ้น โดยเปลี่ยนจากเดิมที่เคยซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือซื้อ RMF อยู่ ก็มาสะสม กบข.เพิ่มแทน

“เป็นการเพิ่มเงินออม ทำให้เงินออมตอนเกษียณเพิ่มมากขึ้น ก็เปลี่ยนจากการซื้อ LTF มาเป็น กบข. หรือเปลี่ยนจากการซื้อ RMF มาเป็น กบข. ซึ่งก็เป็นงบฯเดียวกัน และประหยัดภาษีได้เหมือนกัน” นายวิทัยกล่าว