ธปท.ปรับกรอบเงินเฟ้อทั่วไป 1-3% เพิ่มความยืดหยุ่นนโยบายการเงิน

ธปท.ปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป 1-3% จากเดิมที่มีค่ากลาง 2.5% บวกลบ 1.5% ยัน เป็นเป้าหมายการเงินด้านเสถียรภาพราคาระยะปานกลาง 3-5 ปี สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนไป ลั่นไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณการทำนโยบายเข้มงวด แต่เพื่อความยืดหยุ่น ส่วนค่าเงินติดตามใกล้ชิด ส่วนเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ถือเป้นวาระเร่งด่วนควรเกิดต้นปี 63

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% ซึ่งเปลี่ยนจากเป้าหมายเดิมที่มีค่ากลางที่ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือ 1-4% ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งการกำหนดกรอบเงินเฟ้อ นอกจากเป็นกรอบปีต่อปีแล้ว ยังเป็นกรอบระยะกลาง 3-5 ปี

ทั้งนี้ การปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อใหม่ จะเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และสำหรับปี 2563 โดยการปรับลดเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป และอัตราเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มต่ำลงจากปัจจัยโครงสร้าง 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้การผลิตต้นทุนถูกลง 2.การขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce เกิดผู้ซื้อ-ผู้ขาย ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นจนผู้ขายปรับราคาสินค้าขึ้นยาก และ 3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีรายได้ลดลง และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้การบริโภคสินค้าและบริการในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป

ขณะที่การเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายแบบช่วง (ไม่มีค่ากลาง) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคาควบคู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกและไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากสงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทั้งนี้ จะเห็นว่าธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น เกาหลีใต้ปรับเงินเฟ้อลงจาก 2.5-3.5% เป็น 2% และนอร์เวย์จาก 2.5% เหลือ 2%

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงเกณฑ์การสื่อสารผ่านจดหมายเปิดผนึก (Open Letter) เมื่ออัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย ซึ่งจากเดิมจะดูเพียงปีละครั้ง มาเป็นการดูปีละ 2 ครั้ง เช่น เดือนมกราคมจะมีจดหมายเปิดผนึก และดูเป้าหมายในอีก 12 เดือนข้างหน้า และในเดือนกรกฎาคมกลับมามอง 12 เดือนข้างหน้าและย้อนหลัง 12 เดือน เพื่อให้กนง.แสดงรับความผิดชอบและสื่อสารสาธารณชนได้ทันการณ์

“การกำหนดเป้าหมายเดี่ยวๆ ความยืดหยุ่นจะน้อยลง เราจึงมีเป้าหมายเป็นเรนจ์ 1-3% โดยกรอบ 1% อยู่ที่เดิม เพราะหากกำหนดต่ำลงจะเป็นปัญหาตามมาทั้งการออม ส่วนกรอบ 3% เดิมอยู่ที่ 4% เราไม่ได้ส่งสัญญาณจะทำนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น หรือเปลี่ยนจากเดิม โดยนโยบายการเงินมีแนวโน้มอยู่ในระดับผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง และช่วยให้เงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย เพราะมองแบบ Long term 5 ปี จะเริ่มเข้ากรอบล่าง”

นายเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องแนวโน้มค่าเงิน ธปท.มีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีระดับหนึ่ง แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อย่างไรก็ดี หากมองค่าเงินในระยะข้างหน้า Sentiment มองเงินบาทไม่ได้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Sefe Haven) และธปท.ได้ติดตามมาตรการผ่อนคลายอย่างใกล้ชิด แต่ยอมรับว่าจะต้องใช้เวลาจึงจะเห็นผล และหากดูตามพื้นฐานเงินบาทค่อนข้างแข็งแรงเกิดกว่าปัจจัยพื้นฐาน และในช่วงเดือนที่ผ่านมาค่าเงินภูมิภาคค่อนข้างแข็ง แต่เงินบาทค่อนข้างนิ่ง แต่ก็ยอมรับว่ากนง.มีความกังวลเรื่องเงินบาท และพร้อมจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ากลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นภายในต้นปี 2563 ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีที่กำลังจะมีปัญหาจะต้องหามาตรการป้องกัน เป็นแนวคิดที่เห็นร่วมกันของธปท.กับทางภาครัฐ โดยธปท.อาจจะทำเองหรือเสนอแนวคิดให้คนอื่นทำ เช่น หนี้บสย.ที่ยังค้างอยู่มีจำนวนมากก็หาวิธีปรับโครงสร้าง รวมถึงหนี้ที่กำลังจะเสีย


“ยอมรับมีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องเห็นในไตรมาส1 คือต้องมีอะไรออกมาแต่ผมยังไม่ทราบรายละเอียด ส่วนเรื่องรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตก็ต้องดูด้วยความสมัครใจ หากมีแบงก์หรือนอนแบงก์สนใจที่จะเข้าร่วม”