ทบทวนทศวรรษที่ 2 และมองโอกาสในทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 1)

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

การขึ้น ค.ศ. 2020 นอกจากขึ้นปีใหม่ตามวาระปกติ แต่ในแง่หลักการมองภาพตามคติฝรั่งนี่คือการขึ้นทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 21 และเป็นการสิ้นสุดของทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 ผมขอใช้โอกาสนี้ทบทวนทศวรรษที่ 2 (ค.ศ. 2010-2019) ด้วยว่ามีอะไรที่น่าคิดต่อบ้าง และตอนต่อไปจะชวนคิดในทศวรรษที่ 3 ว่ามีปัจจัยใดหรือโอกาสในการลงทุนอะไรบ้าง ทั้งนี้ บทความในชุดนี้จะมุ่งเน้นไปที่โอกาสในการลงทุนเป็นสำคัญ แต่อาจจะมีการกล่าวถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองบ้างตามหลักการมองภาพใหญ่ (global macro)

1.ในทศวรรษที่ผ่านมา (ค.ศ. 2010-2019) เป็นทศวรรษที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังต้องเผชิญผลจากวิกฤตในทศวรรษก่อนคือ วิกฤตการเงินโลก หรือภาษาอังกฤษที่เป็นทางการจะเรียกกันว่า great financial crisis ตัวย่อ GFC ขณะที่ภาษาลำลองจะเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะต้นกำเนิดเกิดขึ้นที่สหรัฐ และนับวันที่บริษัทหลักทรัพย์เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายใน 15 ก.ย. 2008 หรือ พ.ศ. 2551 เป็นเกณฑ์ โดยทศวรรษที่ 2 นี้ นอกจากการรับมือผลพวงจากวิกฤตการเงินโลกทศวรรษก่อนแล้ว ยังมีวิกฤตหนี้สินสาธารณะในยุโรป ที่คุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของยุโรปและส่งผลต่อโลกด้วย อีกทั้งยังส่งผลต่อความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและการดำรงเงินสกุลยูโรเช่นกัน

ข้อน่าสังเกตคือการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวที่ว่านี้ ประเทศสำคัญทางตะวันตกตั้งแต่สหรัฐ จนถึงยุโรป นอกเหนือจากกดดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในอัตราที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเงินแล้ว ยังได้ตัดสินใจใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ คือการพิมพ์เงินเข้ามาในระบบการเงินจำนวนมหาศาล และใช้เงินดังกล่าวเข้าซื้อหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้เป็นหลัก หรือที่เรียกว่านโยบาย QE (บางประเทศมีการซื้อหุ้นและหลักทรัพย์ที่สินทรัพย์เป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์) เพื่อกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและสภาพคล่องทางการเงินมีอยู่ในระบบอย่างมาก แม้ว่าผลของการทำนโยบายการเงินดังกล่าวในภาพรวมไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นได้ เพราะปริมาณเงินที่พิมพ์นั้นไม่สามารถส่งผ่านผลไปยังเศรษฐกิจที่แท้จริงได้

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์มหภาค เรียกว่า “กับดักสภาพคล่อง” หรือสิ่งที่ นายริชาร์ด คู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สถาบันโนมูระของญี่ปุ่นเรียกว่า “balance sheet recession”

แต่ต้องยอมรับว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ฟื้นทั้ง ๆ ที่เป็นตัวก่อวิกฤตเศรษฐกิจ ในความเห็นผมการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกามาจากสถานะพิเศษของสหรัฐอเมริกาที่ ก) เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสื่อกลางของโลก ทำให้สหรัฐได้ประโยชน์จากนโยบายการเงิน QE มากกว่าประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากระบบการเงินสหรัฐ เป็นพึ่งพิงธนาคาร (bank base) และพึ่งพิงตลาดเงินตลาดทุน (market base) ในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกัน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเป็น bank base คืออยู่ที่สถาบันการเงิน ธนาคารเป็นหลักในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน

ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินในยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง การส่งผ่านผลบวกนโยบาย QE ไปภาคเศรษฐกิจจริงจึงทำได้ลำบาก ต่างจากสหรัฐที่ระบบเศรษฐกิจยังมี market base หรือตลาดเงินตลาดทุนช่วยจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ข) การที่สหรัฐมีผู้อพยพเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ต่างจากยุโรปและญี่ปุ่นที่มีปัญหาโครงสร้างประชากรกดดันการบริโภคในประเทศ ค) สหรัฐเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้ผลิตภาพการผลิต (productivity) เพิ่มขึ้นมาก

ซึ่งในด้านบวกคือ เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการสะสมทุน แต่ในด้านลบคือความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงของการทำงาน ดังจะเห็นจากการจ้างงานสหรัฐ แม้จะเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการจ้างงานชั่วคราวอย่างมีนัยสำคัญ และประเด็นนี้ในทศวรรษที่ 3 หลังการมาของยุค 5G จะเพิ่มความกังวลให้ประชาชนมากขึ้นเมื่อเห็นถึงศักยภาพของระบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ machine learning ว่าสามารถทำอะไรแทนคนหรือแรงงานที่มีการศึกษาได้บ้าง

2.ผลของการที่ประเทศจำนวนมากโดยเฉพาะประเทศตะวันตกยังติดหล่มทางเศรษฐกิจของทศวรรษก่อน ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจระบบการเมือง ระบบสังคมและนักการเมือง อาชีพที่ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างมากว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ ทำให้ความไม่พอใจนี้เปลี่ยนมาสนับสนุนนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีนโยบายสุดขั้วมากขึ้น ซึ่งนี่ยังคงเป็นกระแสที่ต่อเนื่องในทศวรรษที่ 3 นี้ด้วยเช่นกันที่นักการเมืองและชนชั้นปกครองเดิม (establishment class) จะต้องโดนการโจมตีจากนักการเมืองหน้าใหม่หรือนักการเมืองเดิม แต่ใช้วิธีนี้ในการหาเสียงคือ การโจมตีนักการเมืองและชนชั้นปกครองเดิม ระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบเดิม

3.ในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (geopolitics) เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางในชื่ออาหรับสปริงที่กวาดล้างชนชั้นปกครองเดิมในหลายประเทศ และเห็นบางประเทศ เช่นซีเรียที่ติดหล่มเป็นสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมาจนสิ้นทศวรรษที่ 2 และสิ้นสุดหลังการสังหารผู้นำ ISIS ด้วยหน่วยรบพิเศษสหรัฐในปลายปีที่แล้วหรือปลายทศวรรษที่ 2

แม้ว่าในเชิงทรัพยากรน้ำมันซึ่งเป็นประเด็นหลักที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ตะวันออกกลางเป็นจุดที่มหาอำนาจเข้ามามีอิทธิพลและครอบงำภูมิภาคนี้จะเริ่มลดความสำคัญลง หลังจากที่สหรัฐค้นพบวิธีการนำน้ำมันในชั้นหินดินดาน (shale oil/shale gas) มาใช้ และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้าและสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ 5 ปีหลังของทศวรรษที่ 2 (2015-2019) ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ $42.51/bbl ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในทศวรรษที่ 2 (2010-2019) ซึ่งอยู่ที่ $77.29/bbl มากถึง 45% โดยประมาณ


แต่การที่หลายประเทศในตะวันออกกลางนอกจากจะมีความขัดแย้งทางนิกายศาสนาแล้ว ยังมีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับหลายชาติในตะวันออกกลางดำรงอยู่ด้วย ทำให้ประเด็นเรื่องการมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นประเด็นหลักที่ครอบงำการเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลางในทศวรรษที่ 2 แทนน้ำมัน