TMB กำไรปี’62 วูบเกือบ 38% เหตุบันทึกรายได้พิเศษขาย บลจ.ทหารไทยฉุด

ธนาคารทหารไทย(TMB) เผยกำไรสุทธิปี 62 ที่ 7,222.48 ล้านบาท ลดลง 37.7% จากงวดเดียวกันปีก่อน ส่วนงวดไตรมาส 4/62 กำไรลดเหลือ กำไรลด 23% เหลือ 1.61 พันล้านบาท เหตุบันทึกรายได้พิเศษขาย บลจ.ทหารไทยปี 61 ส่วนปี 62 มีค่าใช้จ่ายพนักงานตามกฎหมายแรงงาน-ค่าที่ปรึกษาโครงการรวมกิจการฉุด ตั้งสำรองเพิ่มหนุนแข็งแกร่ง ด้านหนี้เสียลดลง

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิเพียง 7,222.48 ล้านบาท หรือลดลง 37.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,601.24 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิหลังตั้งสำรองฯ และหักภาษีในงวดไตรมาส 4/62 อยู่ที่ 1,615 ล้านบาท ลดลง 23.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 5.% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ธนาคารตั้งสำรองหนี้สงสัญจะสูญในไตรมาส 4/62 เป็นจำนวน 3,114 ล้านบาท เทียบกับ 2,893 ล้านบาทในไตรมาส 3/62 และ 2,030 ล้านบาทในไตรมาส 4/61 สำหรับสำรองหนี้สงสัญจะสูญในไตรมาสรอบ 12 เดือนปี 2562 เป็นจำนวน 10,337 ล้านบาท เทียบกับ 16,100 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า การตั้งสำรองหนี้สงสัญจะสูญเป็นจำนวนรวม 10.3 พันล้านบาท ซึ่ง 1.4 พันล้านบาท เป็นสำรองฯของธนาคารธนชาตเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินของธนาคาร

“ปี 62 นับว่ามีความท้าทายไม่น้อยทั้งในเรื่องของภาพรวมทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอุตสาหกรรมธนาคาร ขณะที่ทีเอ็มบีเองก็มีโครงการรวมกิจการ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ตลอดทั้งปีทีเอ็มบีจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ มุ่งปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง”

ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ M-Rate ของทั้งสองธนาคารให้อยู่ในระดับเดียวกัน การเตรียมสภาพคล่องไว้ขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ การขายหุ้นใน บลจ.ธนชาต เพื่อตอกย้ำกลยุทธ์การให้บริการกองทุนรวม Open Architecture ของทีเอ็มบี จากการเตรียมการต่างๆ เหล่านี้ จึงมั่นใจว่าธนาคารมีความพร้อมสำหรับก้าวใหม่ในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 และการดำเนินการรวมกิจการตามแผนที่ได้วางไว้

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 ในงบการเงินรวมของทีเอ็มบีจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในฐานะบริษัทย่อยเข้ามา โดยด้านงบดุลจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต ณ สิ้นสุด 31 ธ.ค.2562

ขณะที่งบกำไรขาดทุนนั้นจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตเฉพาะช่วงวันที่ 4-31 ธันวาคม 2562 ส่งผลให้สิ้นปี 62 ทีเอ็มบีมีสินทรัพย์ตามงบการเงินรวม จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 0.9 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 61 ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.6 ล้านล้านบาท จากผลของการรวมกิจการและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากที่เป็น Flagship Product ของทีเอ็มบี โดยเฉพาะจากเงินฝากบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี และทีเอ็มบี โนฟิกซ์  ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.7 ล้านล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารธนชาตที่รวมเข้ามา ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อยของทีเอ็มบีก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในส่วนของรายได้จากการดำเนินงานรอบ 12 เดือน ปี 2562 ตามงบการเงินรวม อยู่ที่ 39,821 ล้านบาท ลดลงจาก 48,042 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงมีสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี 2561 ซึ่งในปีดังกล่าวทีเอ็มบีมีการบันทึกรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TMBAM ที่ 65% จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จึงทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (งบการเงินรวม ) ในปี 2561 อยู่ที่ 23,545 ล้านบาท สูงกว่า 12,956 ล้านบาท ในปี 2562

ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกไป รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 9.7% YoY มาอยู่ที่ 26,865 ล้านบาท จากรายได้จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินจากธนาคารธนชาต จะทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้น 10% โดยประมาณ

ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกรรมการขายหุ้น บลจ.ธนชาต (TFUND) นั้น สำหรับทีเอ็มบีจะรับรู้รายการขายดังกล่าวจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทลูก แต่ทีเอ็มบีจะไม่มีการบันทึกกำไรจากรายการนี้ เนื่องจากในการรวมกิจการ ทีเอ็มบีดำเนินการบันทึกและรับรู้มูลค่าของ TFUND เข้ามาด้วย Fair Value แล้ว ดังนั้น การที่ธนาคารธนชาตขายหุ้น TFUND ออกไป 25.1% ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 นั้น จึงไม่มีการบันทึกกำไร โดยสำหรับ TFUND ส่วนที่เหลือ 49.9% ที่ธนาคารธนชาตถืออยู่ ทีเอ็มบีจะรับรู้รายได้เข้ามาจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (Profit sharing from associate company)

ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (งบการเงินรวม) อยู่ที่ 20,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% จากปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายของธนาคารธนชาต ประกอบกับในปี 2562 มีค่าใช้จ่าย one-time หลายรายการ เช่น ค่าใช้จ่าย Employee Retirement Benefit ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาโครงการรวมกิจการ (Advisory Fee) เป็นต้น

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นตามแผน โดยในส่วนของทีเอ็มบี (งบการเงินเฉพาะ) สามารถลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ที่ 2.33% จาก 2.76% ในปีที่แล้ว ส่วนอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ที่ 140% (งบการเงินเฉพาะ) เป็นไปตามเป้าหมายที่ทีเอ็มบีตั้งไว้ สำหรับงบการเงินรวม สัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.30% และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 120%

ในส่วนของระดับความเพียงพอของเงินกองทุน ในเบื้องต้นอัตราส่วน CAR และ Tier I (งบการเงินรวม) ณ สิ้นปี 2562 ประมาณการณ์ว่าจะอยู่ที่ 17% และ 13% ซึ่งยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ

นายปิติ กล่าวว่า สำหรับปี 2563 นี้ ผู้บริหารชุดใหม่ที่เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างผู้บริหารจากทั้งสองธนาคาร พร้อมเดินหน้าสานพันธกิจการรวมกิจการ เพิ่มศักยภาพของธนาคารในการให้บริการและส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 10 ล้านราย และในส่วนของเป้าหมายทางการเงินปี 2563 นี้ อยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในปลายสัปดาห์นี้