คลังตั้งรับวิกฤตงบประมาณ รับเหมากุมขมับเบิกจ่ายสะดุด

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ งบฯลงทุนเบิกไม่ได้ “คลัง-สำนักงบฯ” เตรียม 3-4 แนวทางรับมือ ศาลรับ/ไม่รับวินิจฉัย พ.ร.บ.งบฯปี’63 หวั่นยิ่งล่าช้ายิ่งสะเทือน ผู้รับเหมาที่ประมูลได้งานรัฐแต่ยังเบิกเงินไม่ได้ เผยสถิติเบิกจ่ายถึง 24 ม.ค. มีงบฯลงทุนเบิกจ่ายเข้าระบบได้ไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท เหตุเบิกได้แต่รายการที่มีสัญญาผูกพันไว้แล้วเท่านั้น ส่วนงบฯลงทุนใหม่ 3.6 แสนล้านบาทต้องรอไปก่อน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยอมรับว่าสถานการณ์งบประมาณขณะนี้กำลังวิกฤต ซึ่งรัฐบาลได้ศึกษาทางออกไว้แล้ว

“งบฯไปพลาง” ทะลุ 75%

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ได้มีการเตรียมขยายวงเงินการใช้งบประมาณไปพลางก่อนเกิน 50% เป็น 75% โดยอาศัยอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณรายจ่าย มาตรา 29 ยังมีงบฯที่ใช้จ่ายได้ถึงเดือน มี.ค.

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบฯประจำไม่ได้มีปัญหา มีเพียงงบฯลงทุนเท่านั้น ที่หากกฎหมายงบฯไม่ออก ก็จะเบิกจ่ายไม่ได้ โดยปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดใช้งบฯลงทุนที่เป็นโครงการใหม่ได้ รวมไปถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น มีเพียงรายการที่เป็นงบฯประจำ และงบฯบริการสาธารณะ เช่น เงินเดือนข้าราชการ เบี้ยคนพิการ เบี้ยคนชรา ค่าอาหารกลางวันเด็ก ที่เบิกจ่ายได้

“เรื่องงบฯลงทุน ตอนนี้ก็ให้ทีมกฎหมายพิจารณาอยู่ ว่าจะสามารถปรับแผนอย่างไรได้บ้าง เพราะสถานการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

สำหรับงบฯลงทุนใหม่ในปี 2563 ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้หากกฎหมายงบประมาณยังไม่ผ่าน มีเม็ดเงินอยู่ทั้งสิ้นราว 3.6 แสนล้านบาท โดยเป็นงบฯลงทุนปีเดียวราว 3 แสนล้านบาท และเป็นงบฯผูกพันข้ามปี (รวมรายการเกิน 1,000 ล้านบาท) อีก 6 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตอนนี้ ผู้รับเหมาที่ประมูลงานภาครัฐ แต่ยังไม่สามารถเบิกเงินได้แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด ก็คือ งบฯลงทุน ที่หากยิ่งล่าช้า ก็จะไม่มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็มีการประชุมเรื่องนี้หลายครั้ง เพื่อพยายามหาเม็ดเงินลงทุนมาทดแทน อย่างการเร่งรัดงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ การออกมาตรการสนับสนุนให้เอกชนลงทุน เป็นต้น

ชง 4 ทางออกรับมือโมฆะ

“ทั้่งนี้ ในการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ พิจารณาแนวทางรับมือ 3-4 แนวทางหลัก ๆ อาทิ กรณีกฎหมายงบฯเป็นโมฆะทั้งฉบับ อาจจะต้องโหวตใหม่แบบ 3 วาระรวด, กรณีโมฆะเป็นบางมาตรา ก็ต้องดูว่ามาตราที่ไม่มีปัญหา น่าจะประกาศใช้ไปก่อนได้หรือไม่, การประกาศใช้ร่างกฎหมายงบฯที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่กรณีดังกล่าวต้องตีความว่า การเสนอร่างกฎหมายไปวุฒิสภาอยู่ในกรอบ 105 วันหรือไม่ รวมถึงแนวคิดการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน แหล่งข่าวกล่าว

จากรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมบัญชีกลาง พบว่า ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2563 จนถึง ณ วันที่ 24 ม.ค. 2563 หรือกว่า 1 ไตรมาส หน่วยงานภาครัฐมีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 5.9 แสนล้านบาท หรือประมาณ 27% ของงบฯปี 2563 ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบฯประจำที่สามารถใช้ไปพลางก่อนได้ ส่วนงบฯลงทุนเบิกจ่ายได้เฉพาะโครงการที่มีสัญญาผูกพันมาแล้ว ซึ่งพบว่ายังเบิกจ่ายได้แค่ 5.74% เท่านั้น หรือเบิกจ่ายได้แค่กว่า 2.9 หมื่นล้านบาท จากงบฯลงทุนรวมกว่า 5 แสนล้านบาท

ช้า 2 เดือนซิโน-ไทยฯไม่สะเทือน

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เปิดเผยว่า หากจะล่าช้าจริง ๆ จะส่งผลกระทบต่อสัญญาโครงการที่บริษัทเซ็นไว้กับรัฐเบิกจ่ายล่าช้าไปด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีงานของภาครัฐอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท

“เรารับรู้รายได้ตามปกติ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สามารถใช้เงินทุนมีอยู่ดำเนินการต่อไปได้ เงินที่ยังเบิกไม่ได้ก็บันทึกเป็นลูกหนี้การค้าของเราไป แต่หาก พ.ร.บ.งบฯสะดุดระยะสั้น ๆ 2 เดือนอย่างที่ว่า ก็ไม่น่าจะกระทบอะไร แต่ถ้านานกว่านี้ก็ต้องส่งผลกระทบบ้าง”

สัญญาไม่ได้ระบุให้ฟ้องรัฐ

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ความล่าช้าของงบประมาณ 2563 กระทบต่อรับเหมารายกลาง-รายย่อยอย่างแน่นอน เนื่องจากสายป่านอาจจะไม่ยาวเหมือนรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในสัญญาไม่ได้ระบุหากรัฐซึ่งเป็นคู่สัญญาจ่ายค่างวดงานล่าช้าจะสามารถฟ้องร้องได้ แต่ผู้รับเหมาสามารถฟ้องร้องหากมีการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้น

แนะรัฐออก พ.ร.ก.งบประมาณ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ลุ้นว่างบประมาณจะผ่านหรือไม่ มีความกังวลมากหากงบประมาณปี 2563 ไม่ผ่าน เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับงานภาครัฐทั้งหมด ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้เลย มูลค่าเงินลงทุนจะสะดุดถึง 3 ล้านล้านบาท เม็ดเงินจะหายไปหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ดังนั้น รัฐจะต้องออกประกาศพระราชกำหนดการใช้งบประมาณปี 2563 มาใช้ก่อน เพื่อให้มีการนำเงินออกมาใช้ขับเคลื่อนโครงการ และพักชำระหนี้เอกชนเป็นระยะเวลา 3-6 เดือนเพื่อลดภาระให้เอกชน”

ด้านนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การตั้งกองทุนนวัตกรรม ที่เสนอให้รัฐจัดตั้งโดยขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อตั้งกองทุน 1,000 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งกองทุนใด ๆ”

เงิน ASF 900 ล้านยังไม่คลอด

เช่นเดียวกับนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เพียงแต่กังวลว่างบประมาณปี 2563 จะล่าช้า แต่ขณะนี้แม้จะเป็นเงินในส่วนที่รัฐบาลอนุมัติว่าจะให้ใช้เงินงบฯกลางฉุกเฉินปี 2562 เพื่อมาเตรียมการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกันในสุกร (AFS) และช่วยชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกระทบ วงเงิน 950 ล้านบาท ก็ยังไม่มีออกมาเลย ทำให้ภาคเอกชนต้องใช้วิธีลงขันกันเองประมาณ 70-80 ล้านบาท (หน้า 1, 4)