ส่อง 10 ตลาดใหญ่ ความหวังส่งออกเอสเอ็มอี (1)

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่าน ผมขอประเดิมบทความปีหนูเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ด้วยการนำเสนอข้อมูลจากสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ในการบุก 10 ตลาดส่งออกใหญ่ที่มีศักยภาพ ซึ่งประกอบด้วยจีน อินเดีย ตุรกี เยอรมนี ศรีลังกา บังกลาเทศ ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อังกฤษ และกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ผมจะขอแบ่งนำเสนอเนื้อหาเป็นสองตอน โดยหวังว่าข้อมูลล่าสุดด้านเศรษฐกิจ จำนวนประชากร และพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละประเทศ จะช่วยท่านวางแผนธุรกิจ มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในการส่งออก และเลือกพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าในแต่ละประเทศ

เริ่มจาก จีน ที่มีจำนวนประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนปี 2563 นี้อาจจะขยายตัวลดลง แต่จีนก็ยังคงเป็นตลาดใหญ่ของโลก และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเป็นอันดับ 1 หรือประมาณ 12 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 40 ล้านคนต่อปี หากมองลึกลงไปถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ แมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) ได้สำรวจพบว่ากลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ จะเห็นได้จากยอดขายออนไลน์ของอาลีบาบาในวันซิงเกิลส์ เดย์ (11.11) ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 11 เดือน 11 โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามียอดขายทำสถิติใหม่ด้วยมูลค่าสูงถึง 268,400 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1,149,000 ล้านบาท สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปจีนคือ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบยานยนต์ สินแร่โลหะ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสินค้าที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดจีน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลไม้สดและแปรรูป และเครื่องสำอาง เป็นต้น

ตลาดขนาดใหญ่อีกแห่ง ได้แก่ อินเดีย ที่มีจำนวนประชากร 1.2 พันล้านคน และปีนี้ธนาคารโลกได้จัดอันดับให้อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก ด้วยจีดีพีขยายตัวร้อยละ 7 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 6.1 โดยในปีนี้กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตมากสุดคือ กลุ่มค้าปลีก โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้นำร่องเปิดตลาดสินค้าไทยในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง Foodhall ของประเทศอินเดีย และสินค้าหลักที่อินเดียมีความต้องการจากไทยมากขึ้นในขณะนี้ ได้แก่ ไม้ยางพารา แป้งมันสำปะหลัง วัสดุก่อสร้าง อาหารและผลไม้ โดยเมืองที่มีความสำคัญและขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ มุมไบ นิวเดลี เชนไน และบังคาลอร์ ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเหล่าสตาร์ตอัพอินเดียที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองดังกล่าว

ส่วนประเทศตุรกี แม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศยังต้องเผชิญกับค่าเงินที่อ่อน แต่ศักยภาพตลาดของประเทศตุรกียังคงสดใสสำหรับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลไทยมีแผนเปิดเวทีประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ตุรกี ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมการค้าของทั้งสองฝ่าย และยังช่วยเพิ่มโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากการเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาค โดยตุรกีสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียนและประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป (RCEP) ส่วนไทยจะใช้ตุรกีเป็นจุดศูนย์กลางขยายตลาดสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรปได้ โดยสินค้าที่มีศักยภาพเปิดตลาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรแปรรูป พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

เยอรมนี เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ด้วยจำนวนประชากร 83 ล้านคน โดยเยอรมนีถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในยุโรป สำหรับสินค้าหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะนี้รัฐบาลไทยยังได้แสวงหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มธุรกิจบริการอาหาร (food service) โดยเจาะกลุ่ม HORECA ซึ่งประกอบไปด้วยโรงแรม (hotel) ร้านอาหาร (restaurant) และจัดเลี้ยง (catering) ด้วยการส่งเสริมเมนูอาหารไทยในประเทศเยอรมนี และกลุ่มตลาดเฉพาะ (niche market) เช่น กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มรักสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมบริการและผลิตภัณฑ์ไทยที่มีศักยภาพ เช่น ข้าว อาหารสุขภาพ สินค้าบริการ (ร้านอาหารไทย และสปา) และส่งเสริมอาหารฮาลาล ในกลุ่มผู้อพยพชาวมุสลิม เป็นต้น

ศรีลังกา แม้ประชากรที่มีราว 21.68 ล้านคน จะดูจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่รัฐบาลของศรีลังกาได้ตั้งเป้าให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในมหาสมุทรอินเดีย และมีแผนพัฒนาท่าเรือให้เป็นเมืองท่าที่ทันสมัย เพื่อรองรับการทำธุรกรรมและขนส่งจากทั่วโลก ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้เปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา ซึ่งเป็นการจัดทำเอฟทีเอที่ครอบคลุมทั้งการค้า สินค้า บริการ การลงทุน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัว โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปศรีลังกา เช่น ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้น ผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการมองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดในอนาคต ส่วนข้อมูลอีก 5 ตลาดที่เหลือ ผมจะมานำเสนอเป็นตอนที่ 2 ในครั้งหน้าครับ