1 เดือนหลังวิกฤตไวรัสโคโรน่า SMEs ไทยกระทบอย่างไรบ้าง

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

ช่วงนี้คงไม่มีข่าวไหนร้อนแรงและน่าติดตามเท่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (ไวรัสอู่ฮั่น) ในประเทศจีน ที่ยังคงส่อเค้าความรุนแรงต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในเบื้องต้นเฉพาะในกรอบระยะเวลา 1 เดือน อาจสูงถึง 3 แสนล้านหยวน หรือร้อยละ 0.3 ของ GDP จีนทั้งปี ซึ่งอาจฉุดรั้งให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่กรอบร้อยละ 5.5-5.9 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 โดยผลกระทบทางลบหลัก ๆ จะเกิดขึ้นในภาคการค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคการบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยวของจีน

สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่มีตลาดหลักเป็นนักท่องเที่ยวจีน โดยปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนด้านจำนวนและรายได้สูงถึงร้อยละ 28 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ซึ่งตั้งแต่มีการแพร่ระบาดกลุ่มธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบแทบจะในทันที จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ทางการจีนมีมาตรการการระงับการสัญจรเข้าออกจากเมือง และการคมนาคมขนส่งภายในเมืองในมณฑลหูเป่ย์

รวมถึงการระงับการดำเนินธุรกิจและจัดการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปจากตลาดท่องเที่ยวไทยอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวบางส่วนที่กังวลก็ระงับการเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ธุรกิจส่งออกของไทยก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยส่งสินค้าออกไปประเทศจีนมากเป็นอันดับ 2 ซึ่ง ม.ค.-พ.ย. ปี 2562 มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปจีนคิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของการส่งออกทั้งหมดของเอสเอ็มอีไทย โดยหมวดสินค้าที่ได้รับผลกระทบคือสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมในจีน เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และหมวดสินค้าที่ตอบโจทย์การบริโภคของประชาชนชาวจีน เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

ผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง ส่งแรงกระเพื่อมไปยังประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาจีนอยู่ไม่น้อย ทั้งในมิติของการส่งออกและการท่องเที่ยว เหมือนที่กระทบกับไทย เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียน หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น รวมถึงยุโรปที่พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนสูง ดังนั้น จึงอาจมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจของไทยอีกทอดหนึ่ง

ในยามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่แน่นอนว่าจะคลี่คลายเมื่อใด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยคงหนีไม่พ้นต้องเผชิญกับความยากลำบาก ยิ่งถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ ความเสี่ยงเชิงลบต่อเศรษฐกิจก็จะมีเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งมองหาเครื่องมือและช่องทางเสริมในการสร้างรายได้ ควบคู่กับการดูแลต้นทุนและสภาพคล่อง เพื่อปรับกระบวนท่ารับมือวิกฤตให้ทัน

ผมขอเอาใจช่วยเอสเอ็มอีทุกท่านให้ประคับประคองธุรกิจผ่านไปได้ครับ