ประกันไทยสยายปีกลุย “กัมพูชา” “ทิพยฯ-เมืองไทย” ปักธงชิงเบี้ยวินาศภัย

สมพร สืบถวิลกุล

2 ค่ายประกันไทยรุกขยายธุรกิจกัมพูชา “ทิพยประกันภัย” เล็งจับมือพันธมิตรตั้งบริษัทประกันในกัมพูชา ปักธงไตรมาส 3 ปีนี้ หลังทำธุรกิจใน สปป.ลาวมากว่า 4 ปีแล้ว พร้อมหาลู่ทางบุก “เมียนมา-เวียดนาม” ขณะเดียวกันขยับทำธุรกิจรีอินชัวเรอร์นำร่องดึงเบี้ยจาก “ญี่ปุ่น-มาเลเซีย” ฟาก “เมืองไทยประกันชีวิต” ร่วมทุนบริษัทท้องถิ่นลุยธุรกิจประกันวินาศภัยในกัมพูชา ด้าน คปภ.นัดถกธุรกิจประกัน 12 มี.ค.นี้ วางกรอบลงทุนรับประกาศฉบับใหม่

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาขยายธุรกิจประกันในประเทศกัมพูชา โดยคาดว่าภายในไตรมาส 3 ปี 2563 นี้น่าจะมีความชัดเจน ซึ่งรูปแบบเบื้องต้นจะจับมือกับพันธมิตรกลุ่มบริษัทประกันในไทยและบริษัทท้องถิ่นในกัมพูชา จัดตั้งบริษัทประกันขึ้นมาใหม่ โดยจะขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ทำธุรกิจทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต แต่เริ่มที่ประกันวินาศภัยก่อนเนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งทุนจดทะเบียนเบื้องต้นจะอยู่ที่ราว 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไลเซนส์ ส่วนสัดส่วนถือหุ้นที่ชัดเจนยังอยู่ระหว่างศึกษากฎกติกาของกัมพูชาอยู่ แต่บริษัทจะยึดสัดส่วนที่เป็นผู้นำหลัก

“ตลาดกัมพูชามีการเติบโตในด้านโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างรวดเร็ว และมีจำนวนประชากรมากกว่า สปป.ลาว โดยมูลค่าธุรกิจประกันสูงถึง 4-5 เท่าของ สปป.ลาวที่มีมูลค่าอยู่ที่ราว 60-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงธุรกิจประกันวินาศภัยในกัมพูชายังแข่งขันไม่สูงมาก จึงเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจเข้าไปโดยเฉพาะประกันรถยนต์ และโครงการขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น”

นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาตลาดเมียนมาด้วย แต่การขอใบอนุญาตทำธุรกิจจะเข้มงวดกว่าในกัมพูชา โดยต้องมีการตั้งสำนักงานผู้แทนในเมียนมาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีก่อน จึงจะได้รับการพิจารณาอนุญาตจัดตั้งบริษัทหรือทำธุรกิจเต็มรูปแบบได้ ดังนั้น การร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นน่าจะทำได้เร็วกว่า รวมถึงต้นทุนทำธุรกิจในเมียนมาค่อนข้างสูง ส่วนในเวียดนามบริษัทจะใช้โมเดลการจับมือพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ โดยได้จับมือบริษัทประกันวินาศภัย PVI Insurance Corporation ซึ่งเป็นบริษัทประกันอันดับ 1-2 ของเวียดนามในการขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นปี 2562

“เป้าหมายของเราต้องการขยายธุรกิจบนคาบสมุทรเอเชีย แต่ไม่ไปสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยกัมพูชาน่าจะเห็นรูปร่างได้ก่อนเมียนมา ส่วน สปป.ลาวเราทำธุรกิจมากว่า 4 ปีแล้ว แต่สัดส่วนเบี้ยยังน้อย”

นายสมพร กล่าวอีกว่า บริษัทยังวางเป้าหมายทำธุรกิจผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) ที่รับเบี้ยจากต่างประเทศ (อินเวิร์สอินชัวร์) โดยล่าสุดบริษัทได้รับการจัดอันดับเรตติ้ง A-Stable สร้างความเชื่อถือให้กับลูกค้าต่างประเทศที่จะส่งงานประกันภัยต่อเข้ามา โดยภายในไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะเริ่มธุรกิจส่วนนี้ได้ ซึ่งรับต่อมาจากญี่ปุ่นและมาเลเซีย ด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (น็อนมอเตอร์) โดยส่วนใหญ่เป็นประกันภัยก่อสร้าง รวมถึงประกันภัยเบ็ดเตล็ด (IAR)

“เนื่องจากเราคิดว่ายังใช้ประโยชน์จากความสามารถไม่เต็มศักยภาพ โดยตอนนี้บริษัทมี capacity (ความสามารถรองรับ) เพียงพอ อาทิ มีเงินทุนราว 5 หมื่นล้านบาท แต่ขายประกันในประเทศเต็มที่อยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท จึงอยากใช้ความสามารถที่เหลือในการรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศ แต่จะทยอยรับวงเงินไม่สูงมาก เช่น ครั้งละ 1,000-2,000 ล้านบาท เป็นต้น”

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังยื่นขอร่วมทุน (JV) กับบริษัทประกันภัยท้องถิ่นในกัมพูชา เพื่อขยายธุรกิจประกันวินาศภัยเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทได้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท Sovannaphum Life Assurance PLC เพื่อดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในกัมพูชาไปแล้ว โดยเบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนน้อยกว่าบริษัทประกันท้องถิ่น หรือถือหุ้นไม่เกิน 49% และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกปี 2563 นี้

“แม้ว่าผู้เล่นในธุรกิจประกันวินาศภัยในกัมพูชา จะมีอยู่ราว 18 ราย แต่เชื่อว่าการที่บริษัทลงทุนธุรกิจประกันวินาศภัยเองในครั้งนี้ จะแข่งขันได้ เนื่องจากในอดีตเราเคยเป็น 1 ใน 7 บริษัทประกันภัยของไทยที่ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยร่วมกัน (composite company) เพราะฉะนั้น เรามีองค์ความรู้และรู้เรื่องประกันค่อนข้างดี”

ทั้งนี้ สำหรับผลดำเนินงานของบริษัท Sovannaphum Life Assurance PLC ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเบี้ยรับรวมเติบโตสูงกว่า 194% จากปีก่อน และตอนนี้เป็นผู้เล่นอันดับ 3 ของตลาด

ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ในวันที่ 12 มี.ค. 2563 คปภ.จะจัดประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทประกันภัย ตามประกาศ เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทประกันภัยรายใหญ่เริ่มวางแผนปรับพอร์ตลงทุน โดยสนใจจะขยายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใหม่ ๆ อาทิ หุ้นสถานพยาบาล โรงพยาบาล หรือกิจการที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงกิจการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทำให้บริษัทมีทางเลือกที่หลากหลาย สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ พร้อมรับมือกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทได้